หยวนของจีนแรงไม่หยุด ครองส่วนแบ่งสกุลเงินที่ถูกใช้งานทั่วโลกอันดับ 5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.06 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.47 ในเดือนส.ค.
สำนักข่าวซินหัว รายงาน สมาคมเพื่อการโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลกหรือสวิฟต์ (SWIFT) ผู้ให้บริการส่งข้อความทางการเงินระดับโลก รายงานว่าสกุลเงินเหรินหมินปี้ (RMB) หรือเงินหยวนของจีน ครองส่วนแบ่งสกุลเงินที่ถูกใช้งานทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.06 เมื่อเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ร้อยละ 3.47 ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และครองอันดับ 5 ในฐานะสกุลเงินที่ถูกใช้งานทั่วโลกมากที่สุด
มูลค่าการชำระเงินหยวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากเดือนก่อนหน้า ขณะมูลค่าการชำระเงินของบรรดาสกุลเงินทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.02
รายงานระบุว่าเงินหยวนครองอันดับ 6 ด้านการชำระเงินระหว่างประเทศ หากไม่นับรวมการชำระเงินภายในยูโรโซน ด้วยส่วนแบ่งร้อยละ 2.59
อนึ่ง เขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับการทำธุรกรรมเงินหยวนนอกชายฝั่งด้วยสัดส่วนร้อยละ 73.16 ตามมาด้วยสหราชอาณาจักรที่ร้อยละ 5.51 และสิงคโปร์ที่ร้อยละ 3.81
จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) สัดส่วนของดอลลาร์ในทุนสำรองระหว่างประเทศของโลกลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ ที่ 58% ในไตรมาส 4 ของปี 2022 สวนทางกับสถานะของหยวนในตลาดโลกกำลังเติบโตขึ้น จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (BIS) ที่ระบุว่า สัดส่วนของของหยวนในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านตลาดอย่างไม่เป็นทางการเพิ่มขึ้นจากระดับเกือบ 0% เมื่อ 15 ปีก่อน เป็น 7% ในปี 2023 หลายประเทศเริ่มปลีกหนีดอลลาร์จากการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะประเทศที่ต้องค้าขายกับจีนที่หันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นและหยวนแทน
ขณะที่ค่านิยมของเงินหยวนที่ขยายไปในโลกกว้าง โดยเฉพาะการค้าขายผ่านโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” การซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยสกุลเงินท้องถิ่นกับเงินหยวนเริ่มถูกนำมาใช้มากขึ้น เกิดความสะดวกสบายและมีความเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยนน้อยกว่าการใช้ดอลลาร์ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมุ่งหน้าสู่การละทิ้งการพึ่งพิงดอลลาร์ แม้กับพวกที่เป็นมิตรกับสหรัฐ