เรื่องที่ 1 : สถานการณ์ความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยมีเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศจำนวน 143 แห่ง แบ่งออกเป็น การบริหารราชการส่วนกลาง ได้แก่ เรือนจำกลาง 33 แห่ง เรือนจำพิเศษ 4 แห่ง ทัณฑสถาน 24 แห่ง สถานกักกัน 1 แห่ง สถานกักขัง 5 แห่ง และการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ เรือนจำจังหวัด 50 แห่ง เรือนจำอำเภอ 26 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2566) โดยสถิติการรับตัวผู้ต้องขังตลอดปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 191,700 คน ขณะที่ปล่อยตัวออกจำนวน 177,482 คน กรมราชทัณฑ์จึงมีผู้ต้องขังสะสมในแต่ละปีจำนวนกว่าสองหมื่นคน (สถิติกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมราชทัณฑ์)
สำหรับความจุมาตรฐานของเรือนจำทั่วประเทศ กรมราชทัณฑ์ ใช้มาตรฐานอัตราความจุผู้ต้องขัง 1.6 ตรม. ต่อ ผู้ต้องขัง 1 คน ขณะนี้ มีพื้นที่นอนรวม 381,930.82 ตรม. สามารถรองรับผู้ต้องขังได้จำนวน 238,580 คน แบ่งเป็นชาย 204,846 คน หญิง 33,744 คน
ข้อมูลจำนวนผู้ต้องขังในปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 272,490 คน แบ่งเป็น ชาย 239,795 คน หญิง 32,695 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2566)
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์มีจำนวนผู้ต้องขังชายเกินอัตราความจุประมาณ 30,000 คน (ที่มา : กองทัณฑวิทยา)
หากพิจารณาอัตราส่วนของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขัง ตามหลักมาตรฐานสากล (UNOPS Technical guidance for prison planning) ได้กำหนดอัตราส่วนระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังที่เหมาะสม คือ เจ้าหน้าที่ 1 คน ต่อ ผู้ต้องขัง 5 คน กรมราชทัณฑ์จะต้องมีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่กว่า 60,000 คน แต่อัตรากำลังของข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ ณ เรือนจำ/ทัณฑสถานของประเทศไทยในปัจจุบันมีจำนวน 13,000 คน ทำให้เจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานทั้งด้านการควบคุมดูแล และแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
กรมราชทัณฑ์ ถือเป็นหน่วยงานปลายน้ำที่มิอาจปฏิเสธการรับตัวผู้กระทำผิดไว้ในการควบคุมดูแล แต่ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งอาจต้องพิจารณาถึงกลุ่มคนที่ไม่ควรใช้โทษจำคุกเป็นทางออก ตามหลักอาชญาวิทยา การกระทำผิดที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิด (Mala Prohibita) เช่น พรบ.จราจร หรือ ผู้ต้องขังกลุ่มเปราะบางที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำ หลายประเทศใช้วิธีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยใช้ชุมชนเป็นหลัก (Community-based Corrections) เพราะตระหนักดีว่า การใช้โทษจำคุกจะเป็นตราบาปต่อผู้ต้องขังที่ถูกตัดสินจำคุก และไม่ได้เกิดผลดีต่อสังคม ในระยะยาว ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุด คือการลดจำนวนผู้ต้องขังขาเข้า และระบายผู้ต้องขังขาออก เพื่อแก้ปัญหานักโทษล้นคุกซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุม และแก้ไขผู้ต้องขังเป็นไปในทิศทางที่ ดีขึ้นและสามารถบรรลุเป้าหมายในการคืนคนดีมีคุณค่าสู่สังคมได้อย่างแท้จริง