“…ครั้งนี้ ถือเป็นการท้าทายอำนาจคณะกรรมการ กสทช. เพราะถือเป็นร่างงบประมาณฯ ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช.แต่อย่างใด วันนั้นที่ประชุมบอร์ดได้มีการทักทวงว่า ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช.ที่ถูกบรรจุเข้าสู่วาระในวันนั้นยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีรายละเอียดให้คณะกรรมการ กสทช.ได้พิจารณา จึงมีมติไม่เห็นชอบ และไม่ให้นำร่างงบประมาณรายจ่ายฯ เข้าสู่การพิจารณา แต่จู่ ๆ กลับปรากฏว่ารักษาการเลขาธิการ กสทช.กลับนำร่างดังกล่าวส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลฯ โดยตรง โดยที่ร่างดังกล่าวยังไม่ผ่านการอนุมัติ..”
มุบมิบรวบอำนาจจัดทำงบ กสทช.67
แฉประธาน กสทช.-รักษาการปิดห้องลับ “ปุจฉา-วิสัจชนา”กันเองฉลุย
ทำเอาบอร์ด กสทช.อึ้งกิมกี่ -ไม่แน่ใจว่าตนเองยังมีตัวตนอยู่ในกสทช.หรือไม่
กสทช.แรงดีไม่มีตก คราวนี้จัดหนัก จัดเต็ม รักษาการเลขาฯ ”ชงร่างงบฯ กสทช.ปี 67 ถึงบอร์ดดีอีโดยไม่ผ่านมติบอร์ด กสทช. วงในเชื่อได้ไฟเขียวจาก “บิ๊กไห่-ประธานกสทช.” ปิดห้องลับกีดกันไม่ให้ร่วมพิจารณา หลังข่าวแพร่สะพัดทำเอาบอร์ด กสทช.มือทาบอก กลัวเข้าตึกแล้ว จนท.คิดว่าไม่มีตัวตน
แรงดีไม่มีแผ่วกับหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ล่าสุดทำเอาองค์กรแตกดังโพล๊ะอีกเรื่อง เมื่อจู่ ๆ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. ในฐานะรักษาการเลขาธิการ กสทช. ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดที่ สทช.2101/33298 ลงวันที่ 22 ก.ย.2562ไปยังเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เพื่อให้บรรจุวาระการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช. ให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) พิจารณา
โดยระบุว่า ด้วยพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 (พรบ.กสทช.) และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 57 วรรค 5 บัญญัติให้สำนักงาน กสทช.เสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนวันเริ่มปีงบประมาณไม่น้อยกว่าเก้าสิบ (90) วัน สำนักงาน กสทช.) พิจารณาแล้ว เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงขอเสนอบรรจุวาระเพื่อพิจารณาให้ความเห็นร่างงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช. จำนวนทั้งสิ้น 5,828.5146 ล้านบาท รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย”
โดยร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช. ที่นายไตรรัตน์ ลงนามส่งไปยังเลขาธิการ สดช.นั้นเป็นร่างงบประมาณที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช.แต่อย่างใด แม้รักษาการเลขาธิการ กสทช.จะนำเสนอร่างดังกล่าวบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช. ในการประชุมบอร์ด ครั้งที่ 19/2566 เมื่อวันที่ 21 ก.ย.66 ที่ผ่านมา แต่ที่ประชุมบอร์ดได้มีการทักทวงว่า ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช.ที่ถูกบรรจุเข้าสู่วาระในวันนั้นยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีรายละเอียดให้คณะกรรมการ กสทช.ได้พิจารณา จึงมีมติไม่เห็นชอบ และไม่ให้นำร่างงบประมาณรายจ่ายฯ เข้าสู่การพิจารณา แต่จู่ ๆ กลับปรากฏว่ารักษาการเลขาธิการ กสทช.กลับนำร่างดังกล่าวส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลฯ โดยตรง โดยที่ร่างดังกล่าวยังไม่ผ่านการอนุมัติ
“ การกระทำของนายไตรรัตน์ ที่นำส่งร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช.ไปยัง สดช.หรือคณะกรรมการดีอีโดยตรงในครั้งนี้ ถือเป็นการท้าทายอำนาจคณะกรรมการ กสทช. เพราะถือเป็นร่างงบประมาณฯ ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช.แต่อย่างใด แต่ก็เชื่อว่า คงได้รับไฟเขียวจาก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.แล้วจึงทำให้ นายไตรรัตน์ กล้าลงนามในหนังสือไปถึงเลขาธิการ สดช.“
ทั้งนี้ตามกฎหมายกำหนดให้อำนาจในการอนุมัติงบประมาณ และการออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและจัดการงบประมาณที่ได้กำหนดขั้นตอนให้ เป็นอำนาจของคณะกรรมการ กสทช. แต่ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช.ได้ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณ กสทช. และเปลี่ยนเป็นคณะทำงานพิจารณางบประมาณของสำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อมติที่ประชุม กสทช. ที่ต้องการให้กรรมการกสทช.ทุกคนส่งผู้แทนที่มีความรู้ด้านงบประมาณมาร่วมเป็นอนุกรรมการเพื่อช่วยพิจารณากลั่นกรองร่างงบประมาณก่อนส่งให้ คณะกรรมการ กสทช.ร่วมกันพิจารณาอนุมัติ แต่สำนักงาน กสทช.กลับไม่ดำเนินการตามมติดังกล่าว และตั้งคณะทำงานฯ ดำเนินการเองโดยเอกเทศ
“การกระทำดังกล่าวถือเป็นความต้องการที่จะรวบอำนาจพิจารณางบประมาณไว้ที่ตัวประธาน และรักษาการ เลขาธิการ กสทช. โดยไม่ต้องการให้กรรมการ กสทช. เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณา” แหล่งข่าว ระบุ และว่าจนถึงขณะนี้กรรมการ กสทช.หลายคนที่รับทราบข่าวการส่งร่างงบประมาณรายจ่ายปี 67 ของสำนักงาน กสทช.ไปยังคณะกรรมการดีอีโดยตรง ถึงกับแสดงความงุนงงว่า ตกลงแล้วสำนักงาน กสทช.ขึ้นอยู่กับหน่วยงานใด และกรรมการ กสทช.ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นทำหน้าที่อะไร ยังคงมีตัวตนอยู่หรือไม่”
ทั้งนี้ เรื่องนี้กลายเป็นที่โจษขานภายในสำนักงาน กสทช.อย่างหนักว่า เหตุใด ประธานถึงพยายามสนับสนุน นายไตรรัตน์ ให้อยู่ในตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. ทั้งที่บอร์ด กสทช.มีมติเสียงข้างมากให้พ้นจากตำแหน่งไปก่อนหน้านั้นแล้ว รวมทั้ง นพ.สรณ ยังเตรียมเสนอชื่อ นายไตรรัตน์ ให้เป็นเลขาธิการ กสทช.คนใหม่อีกด้วย โดยอ้างว่าประธาน กสทช.มีอำนาจแต่เพียงคนเดียวในการเสนอชื่อ ทั้งที่ตามกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่ผ่านมาเป็นหน้าที่ที่คณะกรรมการ กสทช.ต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้การกำหนดงบประมาณของสำนักงาน กสทช.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสามารถสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.ตามกฎหมาย
“ไม่แปลกเลยที่ก่อนหน้านี้ มีข่าวปรากฎตามสื่อ เรื่องที่ส.ส.ฝ่ายค้านหยิบยกกรณี กสทช.ว่าจ้างบริษัทเอกชนที่ซื้อ-ขายเครื่องคอมพิวเตอร์รายหนึ่งให้ผูกขาดการขายและซ่อมบำรุงระบบคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารจาก กสทช.ด้วยวิธีพิเศษกว่า 35 ครั้งวงเงินหลายร้อยล้านบาทในระยะ 5-6 ปี ก็เพราะมีการมุบมิบ ๆ ดำเนินการในลักษณะนี้”
แหล่งข่าวในสำนักงาน กสทช.ระบุด้วยว่า ผู้บริหาร และพนักงานสำนักงาน กสทช.ปัจจุบันมีแต่ความอึดอัดต่อสิ่งที่ต้องดำเนินการที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมายและขัดต่อมติ กสทช. ครั้งแล้วครั้งเล่า สะท้อนถึงการขาดเสถียรภาพในการบริหารองค์กรที่เลวร้ายลงทุกวัน หากหมดหนทางจริงก็คงต้องพึ่งบารมีด้วยการถวายฎีกา เพื่อให้องค์กรอันเป็นที่รักของพวกเรา สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยที่ทุกคนไม่ต้องกล้ำกลืนฝืนทนเหมือนอย่างทุกวันนี้” แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช.ระบุ