วันศุกร์, พฤศจิกายน 29, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมพนง.การท่าเรือ 110 คน ร้องขอความเป็นธรรม "มนพร"รมช.คมนาคม จ่ายค่าเสียหายคนละ 4 ล้านบาท หลังโดนกลั่นแกล้งร้อง ดีไอไอ เอาผิดเงินค่าล่วงเวลา

Related Posts

พนง.การท่าเรือ 110 คน ร้องขอความเป็นธรรม “มนพร”รมช.คมนาคม จ่ายค่าเสียหายคนละ 4 ล้านบาท หลังโดนกลั่นแกล้งร้อง ดีไอไอ เอาผิดเงินค่าล่วงเวลา

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 ต.ค.2566 ที่ กระทรวงคมนาคม ถนนราชดำเนินนอก นายกฤษฎา อินทามระ ทนายความ พร้อมพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำนวนกว่า 100 คน เดินทางเข้าพบ นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคมเพื่อยื่นหนังสือร้องของความเป็นธรรมกรณีที่ถูกการท่าเรือแห่งประเทศไทย แจ้งความ ดีเอสไอ.เป็นคดีพิเศษที่ 4/2557 โดยมี นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นางมนพร เจริญศรี)เป็นผู้รับหนังสือเพื่อเสนอ รมช.พิจารณาสั่งการต่อไป

นายกฤษฎา เปิดเผยว่า คดีนี้ ผู้บริหารการท่าเรือฯ ยุคนั้นได้กลั่นแกล้งกล่าวหาว่า พนักงาน 560 คน มีการทุจริตเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา มูลค่าความเสียหายสามพันล้านบาท ที่เป็นข่าวโด่งดังเมื่อปี พ.ศ.2560 แต่ต่อมาเดือนมีนาคม 2566 ดีเอสไอ สามารถสั่งฟ้องผู้ต้องหาได้เพียง 34 คนเท่านั้นโดยมีมูลค่าความเสียหายไม่ถึง 3 ล้านบาท คดีพิเศษดังกล่าวจึงเป็นการกลั่นแกล้งพนักงานกว่า 500 คน อาจติดคุกทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2566 ทนายกฤษฎาจึงได้พาพนักงานนับร้อยคนไปแจ้งความจับผู้บริหารและอดีตผู้บริหารรวม 130 คน ที่ บก.ปปป.ให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 157 ขณะนี้เรื่องอยู่ที่ ป.ป.ช.โดย ป.ป.ช. เรียกผู้ถูกกล่าวหาไปให้ถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมส่งเอกสารประกอบการชี้แจงในวันที่ 25 ตุลาคม 2566

ในวันนี้ตนจึงต้องพาพนักงานจำนวน 110 คน มายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ รมช.กระทรวงคมนาคม ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการท่าเรือ โดยได้มอบหลักฐานเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งใส่ร้ายพนักงานของการท่าเรือเอง จึงบ่งชี้ว่า การท่าเรือต้องการ “กำจัด” หรือ “สังหารหมู่” พนักงานผู้บริสุทธิ์กว่า 500 คน จึงต้องมาร้องขอให้ รมช.มนพร สั่งให้การท่าเรือพิจารณาจ่ายเงินค่าเสียหายให้แก่พนักงาน 110 คนๆ ละ 4 ล้านบาท แยกเป็นค่าทดแทนเงินค่าล่วงเวลาที่ได้ฟ้องต่อศาลแรงงานกลางไว้แล้ว โดยให้การท่าเรือจ่ายเป็นรายชั่วโมงจากที่เคยจ่ายแบบเหมาจ่าย แต่คดีที่ศาลแรงงานกลางกลับถูกการท่าเรือกล่าวอ้างอำนาจคดีพิเศษทำลายความชอบธรรมจนต้องถูกศาลยกฟ้องไป ทำให้แต่ละคนต้องสูญเสียเงินตามสิทธิที่ควรจะได้ จึงขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินจำนวนคนละ 3 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีค่าเสียหายที่ต้องเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางในคดีพิเศษ โดยคดีพิเศษก็ทำให้ครอบครัวต้องทนทุกข์ทรมาน ถึงขนาดกินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นเวลากว่า 8 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ที่มีการรับเป็นคดีพิเศษเป็นต้นมา ซึ่งค่าเสียหายในส่วนนี้ขอคิดคนละ 1 ล้านบาทรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นคนละ 4 ล้านบาท

“ทั้งนี้ ถ้าการท่าเรือฯ ยังไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายโดยดีตนจะพาพนักงานไปร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งกำกับดูแลกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ให้ดำเนินการช่วยเหลือพนักงาน 110 คนที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีพิเศษของ ดีเอสไอ ทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์ โดยให้การท่าเรือจ่ายค่าตอบแทนความเสียหายและค่าทดแทนแก่ผู้เสียหายทั้ง 110 คนต่อไป”นายกฤษฎา กล่าวในที่สุด

ด้านนายทวีศักดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวหลังรับหนังสือคําร้องว่า ตนจะนําเรื่องเรียนไปให้ท่านรัฐมนตรีฯทราบ ส่วนเรื่องเงินจํานวน 4 ล้านบาท ต้องขอตรวจสอบข้อเท็จจริงและเรื่องราวต่างๆ คาดว่าใช้เวลาไม่นาน จากนั้นจะสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล ซึ่งจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts