วันศุกร์, กันยายน 20, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมชี้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิกไม่ครอบคลุมพื้นที่ใช้ประโยชน์กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง แนะจัดสรรที่ดินโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมกำหนดเงื่อนไขการถือครอง

Related Posts

ชี้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิกไม่ครอบคลุมพื้นที่ใช้ประโยชน์กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง แนะจัดสรรที่ดินโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมกำหนดเงื่อนไขการถือครอง

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้แทนประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ระบุว่า ผู้ร้องและกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง กว่า 1,100 ราย ตั้งถิ่นฐานในตำบลวังบาล และตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ (บริเวณภูทับเบิก) เดิมประกอบอาชีพทำไร่ฝิ่น ต่อมาเมื่อปี 2502 หลังจากรัฐบาลยกเลิกการขายฝิ่นและห้ามมิให้เสพฝิ่น จึงมีนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2502 และมติ ครม. อีกหลายฉบับให้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ชาวเขาและสนับสนุนให้ประกอบอาชีพอื่น โดยกันพื้นที่สำหรับจัดตั้งนิคมบริเวณป่าหมายเลข 22 และจัดทำแผนที่เรียบร้อยแล้ว แต่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งเดิมคือกรมประชาสงเคราะห์ (ผู้ถูกร้องที่ 1) และศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเพชรบูรณ์ (ผู้ถูกร้องที่ 2) กลับไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จ จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย พิจารณาหลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าหน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งสองได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่ โดยแยกพิจารณาได้เป็น 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง การไม่จัดตั้งนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขาบริเวณภูทับเบิก เห็นว่า เดิมภูทับเบิกเป็นพื้นที่เป้าหมายที่รัฐใช้จูงใจให้กลุ่มชาติพันธุ์ม้งเข้ามาอยู่อาศัยและทำกิน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2502 โดยให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลือกภูเขาที่เหมาะสมและจัดตั้งนิคมสร้างตนเองและชักชวนชาวเขาให้เข้ามาอยู่อาศัยและทำพืชไร่เป็นกลุ่มก้อน โดยนโยบายดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์หลักที่จะจัดที่ดินให้เป็นสิทธิแก่ชาวเขา แต่เป็นแนวคิดที่จะให้สัมปทานพื้นที่บนภูเขาทั้งลูกแบบระยะยาว (50 ปี) กับเอกชนที่เป็นนายทุนเจ้าของธุรกิจที่ชักชวนชาวเขาเข้ามาอยู่รวมกันและให้บริการเพื่อให้ชาวเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ไม่ปรากฏว่ามีการให้สัมปทานกับนายทุนตามแนวคิดดังกล่าว

แม้ต่อมา ครม. จะมีมติเมื่อปี 2505 และปี 2509 ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 (กรมประชาสงเคราะห์ในขณะนั้น) จัดตั้งนิคมสงเคราะห์ชาวเขา ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย แต่หน่วยงานไม่สามารถจัดตั้งนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขาบริเวณภูทับเบิกได้ เนื่องจากปัญหาการสู้รบกับคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ และสภาพพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมจะจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 มีป่าไม้และภูเขาสูง มีฝนตกหนาแน่น จึงไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในพื้นที่ดังกล่าว ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงเสนอ ครม. ให้พิจารณายกเลิกมติ ครม. ดังกล่าว ซึ่ง ครม. ได้มีมติเมื่อปี 2545 ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 คืนพื้นที่ให้กรมป่าไม้รับไปดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืนแทน

กสม. เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีที่ให้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองบริเวณภูทับเบิก ไม่ได้ก่อให้เกิดการโอน สงวน เปลี่ยนแปลง หรือระงับซึ่งสิทธิแก่ประชาชน เป็นแต่เพียงนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน ที่หน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งสองต้องปฏิบัติตาม แต่เมื่อไม่สามารถปฏิบัติตามและได้เสนอให้ ครม. มีมติใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงมติเดิมแล้ว มติเดิมย่อมสิ้นผลไป ดังนั้น การที่หน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งสองไม่จัดตั้งนิคมสงเคราะห์ชาวเขาจึงไม่เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่สอง กรณีจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิกไม่ครอบคลุมพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนชาติพันธุ์ม้ง จังหวัดเพชรบูรณ์ จากการตรวจสอบปรากฏว่า ในการคืนพื้นที่บริเวณภูทับเบิกให้กรมป่าไม้รับไปดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืนแทนนั้น ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้ขอกันพื้นที่บางส่วนรวมกว่า 47,000 ไร่ ไว้ เพื่อใช้ในการพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา และนำไปจัดสรรให้ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ใช้ประโยชน์ โดยได้จัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก พ.ศ. 2560 – 2565 แต่แผนแม่บทกลับไม่ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งทั้งหมด นอกจากนี้การคืนพื้นที่บางส่วนส่งผลให้พื้นที่หมู่บ้านเดียวกันถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน กล่าวคือ ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ซึ่งหน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งสองมีโครงการพัฒนาตามแผนแม่บท และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้

กสม. เห็นว่า การจัดทำแผนแม่บทที่ไม่ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เป็นผลให้ชุมชนม้งถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน และอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่มีนโยบายในการบริหารจัดการพื้นที่แตกต่างกัน เป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีวิถีวัฒนธรรมและเป็นชุมชนเดียวกันมาตั้งแต่ต้น อันส่งผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน สิทธิชุมชน สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ และความมั่นคงในการถือครองที่ดิน จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งสอง คือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเพชรบูรณ์ร่วมกับกรมป่าไม้ และคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จัดทำแผนบริหารจัดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างยั่งยืน และจัดที่ดินให้แก่ผู้ร้องและประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่อยู่อาศัยและทำประโยชน์ในตำบลวังบาลและตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ตามคำร้องนี้ ทั้งส่วนที่อยู่ในแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก พ.ศ. 2560 – 2565 และส่วนที่อยู่ในเขตป่า โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดเงื่อนไขการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งนี้ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาผ่อนผันให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง กรมป่าไม้ และ คทช. ใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ในการจัดที่ดินด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts