วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีนทำไม 'ไทย' เลือกเข้าหา 'จีน' ในเวทีหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

Related Posts

ทำไม ‘ไทย’ เลือกเข้าหา ‘จีน’ ในเวทีหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ไทยรัฐออนไลน์ได้ระบุว่า เวทีความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (The Belt and Road Initiative) ครั้งที่สาม ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 17-18 ตุลาคม 2566 ในโอกาสครบหนึ่งทศวรรษของโครงการนี้ มีผู้นำอาเซียนเพียง 5 จาก 10 ประเทศสมาชิกเท่านั้นที่เข้าร่วม สะท้อนความสำคัญที่ลดลง และปัญหาที่ซับซ้อนของโครงการที่จีนหมายมั่นปั้นมือให้เป็นเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก และยังสร้างปัญหาหนี้สินให้หลายประเทศ

ในบรรดาผู้นำจากอาเซียนที่เข้าร่วมการประชุมรายการสำคัญครั้งนี้ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต จากกัมพูชา ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด จากอินโดนีเซีย ประธานาธิบดี ทองลุน สีสุลิด จากลาว นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จากไทย และ ประธานาธิบดี หวอ วัน เถื่อง จากเวียดนาม

ผู้นำจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อยู่ในแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ ที่ไม่เพียงแต่มีความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับที่แนบแน่นกับรัฐบาลปักกิ่งเท่านั้น ยังผูกพันทางด้านเศรษฐกิจกันอย่างมาก หรือในกรณีของบางประเทศอย่างไทยและกัมพูชา ก็มีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงและการทหารระหว่างกัน

@suebjarkkhao

ทำไม ‘ไทย’ เลือกเข้าหา ‘จีน’ ในเวทีหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

♬ เสียงต้นฉบับ – Suebjarkkhao – Suebjarkkhao

ท่าทีประเทศไทย ในเวทีหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ถ้ามองลงไปในรายละเอียด ดูเหมือนว่าไทยจะเป็นประเทศที่กระตือรือร้นในการเข้าร่วมการประชุมที่ปักกิ่งมากกว่าเพื่อน ด้วยเหตุผลหลายประการ กล่าวคือ ประการแรก นายกรัฐมนตรีเศรษฐาของไทยเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไปแนะนำตัว และหารือเชิงยุทธศาสตร์กับผู้นำจีน ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจรายสำคัญของโลกไปแล้ว

ประการที่สอง รัฐบาลใหม่ของไทยคาดหวังอย่างมากในการดึงเงินทุนจากจีนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าจะด้วยวิธีง่ายๆ อย่างเช่น ยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน หรือวิธีที่ยากกว่า เช่น เชื้อเชิญการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่ริเริ่มกันมานาน เป็นต้นว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังก่อสร้างอย่างช้าๆ ในปัจจุบัน การลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกที่รัฐบาลชุดก่อนทำไว้แล้วยังไปไม่ถึงไหน หรือแม้แต่โครงการที่จีนอยากได้ แต่ไทยไม่อยากให้ อย่างการขุดคลองไทยเชื่อมอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน และ โครงการเก่าแลนด์บริดจ์เพื่อพัฒนาภาคใต้ ที่รัฐบาลใหม่อยากจะปัดฝุ่น

ประการที่สาม รัฐบาลไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องเคลียร์ปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำของกองทัพเรือที่ค้างคามาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งไม่ว่ากองทัพไทยจะตัดสินใจอย่างไร รัฐบาลก็ต้องรับหน้าเสื่อไปเจรจาให้อย่างหลีกไม่ได้

ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เวียดนาม กลุ่มประเทศที่เข้าร่วมการประชุมที่ปักกิ่ง

นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต ของกัมพูชา ก็มีวัตถุประสงค์ในการเดินทางไปร่วมการประชุมที่ปักกิ่งคล้ายๆ กับผู้นำของไทย กล่าวคือ เพิ่งรับตำแหน่งใหม่เช่นกัน แต่อาจจะได้เปรียบอยู่บ้างตรงที่ ฮุน เซน ผู้พ่อ เคยพาเขาไปแนะนำและสร้างความคุ้นเคยเอาไว้ก่อนแล้ว และผู้นำจีนก็ไปมาหาสู่กัมพูชา ติดต่อกับ ฮุน มาเนต ตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 

นอกจากนี้ กัมพูชามีผลประโยชน์กับจีนในหลายด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง กัมพูชาไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิเสธคำเชิญของทางการจีนได้ ไม่ว่างานเล็กงานใหญ่แค่ไหน ผู้นำกัมพูชาก็ต้องให้ความสำคัญ

ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ของอินโดนีเซีย อาจจะไม่ได้แสดงการพินอบพิเทาจีนมากเท่าใดนัก แต่เขาก็จำเป็นจะต้องไปปรากฏตัวในงานสำคัญของจีน เพราะอินโดนีเซียยังคงรั้งตำแหน่งประธานกลุ่มอาเซียนอยู่จนถึงสิ้นปีนี้ ที่สำคัญ กลุ่มอาเซียนมีแถลงการณ์ร่วมเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างแผนแม่บทการเชื่อมโยง (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025) กับโครงการความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน เนื่องในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2019 จึงถือเป็นภาระผูกพันที่กลุ่มอาเซียน และประธานอาเซียน จะต้องดำเนินการสานต่อ

นอกจากนี้ จีนเองก็ให้ความสำคัญกับอินโดนีเซียอย่างมาก เพราะเป็นประเทศใหญ่ที่สุดที่มีฐานะเป็นผู้นำตามธรรมชาติของอาเซียน และมีโครงการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง ที่เปิดบริการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา นี่เอง ถือเป็นโครงการภายใต้ร่มธงของความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางโดยตรงที่ปรากฏเป็นจริง และเป็นหน้าเป็นตาของจีนในอุษาคเนย์

ความสำเร็จของการเยือนปักกิ่งของโจโควีในคราวนี้ ได้รับการตอกย้ำในแถลงการณ์ร่วมระหว่างประธานาธิบดีของสองประเทศ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีในความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม ในแถลงการณ์พูดถึงปัญหาความมั่นคงที่สำคัญสำหรับสองฝ่ายคือ เรื่องไต้หวัน ที่อินโดนีเซียให้สัญญาว่าจะยึดถือนโยบายจีนเดียวตลอดไป และปัญหาทะเลจีนใต้ ที่แม้อินโดนีเซียจะไม่ได้เป็นประเทศที่อ้างสิทธิทับซ้อน แต่ก็มีปัญหากันอยู่บ้างบริเวณ นาทูนา ซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของอินโดนีเซีย จึงต้องมาย้ำว่าจะแก้ข้อขัดแย้งกันโดยสันติวิธีตามแนวทางของกลุ่มอาเซียนที่ได้ตกลงกันเอาไว้กับจีน ภายใต้ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ที่ทำกันเอาไว้ตั้งแต่ปี 2002 และที่กำลังเร่งเจรจาคือ Code of Conduct

ประธานาธิบดี ทองลุน ของลาว เดินทางไปปักกิ่งด้วยตนเอง เพื่อตอกย้ำความสำคัญของงานที่จีนเป็นเจ้าภาพในฐานะที่ลาวกำลังจะรับหน้าที่ประธานอาเซียนต่อจากอินโดนีเซียในปีหน้า และในฐานะของผู้นำประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่แนบแน่นอย่างยิ่ง จนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นหลังบ้านจีนไปแล้ว 

เศรษฐกิจลาวนั้นนับวันแต่จะถูกพลังดูดของจีนรุนแรงมากขึ้นทุกวัน เพราะโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟลาว-จีน สร้างภาระหนี้สินให้ลาวมาก จนมีแนวโน้มว่าอาจจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติได้ ทำให้ลาวคิดหนีจากจีนได้ลำบาก

ประธานาธิบดีเถื่องของเวียดนาม เดินทางไปร่วมประชุมในเวทีความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อพิสูจน์ว่าเวียดนามดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นอิสระ และคงเส้นคงวาในสถานการณ์ที่เวียดนามกลายเป็นที่หมายปองจากสหรัฐฯ ที่ต้องการจะดึงไปเป็นพวก อันเนื่องมาจากความขัดแย้งที่เวียดนามมีกับจีน ในเรื่องการอ้างสิทธิทับซ้อนในทะเลจีนใต้

เวียดนามมีความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งชังกับจีน แต่ก็ไม่อาจจะคบหากับอดีตศัตรูในประวัติศาสตร์อย่างสหรัฐฯ ได้สนิทใจ จึงต้องสร้างดุลยภาพให้เหมาะสม

ผู้นำประเทศเข้าร่วมประชุมกับจีนน้อยลง

พม่า ประเทศในแผ่นดินใหญ่เพียงหนึ่งเดียวที่ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมเวทีหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ทั้งๆ ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของจีน และพึ่งพิงจีนมากทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและการทหาร ส่วนหนึ่งอาจเพราะปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในฉุดรั้ง มิน อ่อง หล่าย ไม่ให้ออกจากบ้านไปไหน เขาถูกบอยคอตจากกลุ่มอาเซียนไม่ให้เข้าร่วมประชุม ไม่ให้เป็นประธานตามกำหนดเดิม อาจจะทำให้รู้สึกว่าการปรากฏตัวในเวทีระหว่างประเทศ แม้แต่เวทีซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพ เป็นเรื่องที่สร้างความลำบากใจให้มากกว่า

ประเทศอื่นของอาเซียนอย่าง ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียนั้น มีปัญหากับจีนในเรื่องการอ้างสิทธิทับซ้อนในทะเลจีนใต้ อีกทั้งผู้นำปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดี มาร์กอส จูเนียร์ และนายกรัฐมนตรีอันวา อิบราฮิม ดูเหมือนจะไม่ปลื้มโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเท่าใดนัก

ส่วนสิงคโปร์นั้นแสดงการสนับสนุนโครงการของจีน แต่นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ไม่ได้เดินทางไปร่วมด้วยตนเองเหมือนทุกครั้ง หากแต่ส่ง ชี ฮอง ตัท (Chee Hong Tat) รักษาการรัฐมนตรีคมนาคมไปร่วมงานแทน ในขณะที่ตัวเขาเดินทางไปซาอุดีอาระเบีย เพื่อร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือประเทศอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council) ก็สะท้อนการให้น้ำหนักกับความสำคัญของงานทั้งสองได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ดูโดยภาพรวมแล้วจะเห็นได้ว่า การประชุมเวทีความริเริ่มหนี่งแถบหนึ่งเส้นทางครั้งที่สามในปีนี้ได้รับความสนใจจากผู้นำจากส่วนอื่นๆ ของโลกน้อยลงด้วยเช่นกัน มีผู้นำระดับประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลเข้าร่วม 23 คน เมื่อเปรียบเทียบกับ 30 คน ในครั้งแรกในปี 2017 และเพิ่มเป็น 37 คน ในครั้งที่สองเมื่อปี 2019 

เหตุผลส่วนหนึ่งอาจจะมาจากวิกฤตการณ์อิสราเอล-ปาเลสไตน์ แต่อีกส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โครงการพัฒนาภายใต้ร่มธงของ “ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ประสบปัญหามาก เพราะโครงการในหลายที่ล่าช้าและก่อปัญหาหนี้สินให้กับเศรษฐกิจของประเทศที่เข้าร่วมโครงการอย่างมาก 

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts