8 พฤศจิกายน 2566 ทำเนียบฯ – 3 กระทรวงเศรษฐกิจ แจง ครม.อนุมัติ 1 หมื่นล้าน แทรกแซงราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ 12,300 บาท/ตัน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมชี้แจงมติ ครม. ในการออกมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ฤดูกาลผลิตปี 2566/67 เนื่องจากราคาข้าวเปลือกเจ้าและข้าวชนิดอื่นยังมีราคาน่าพอใจ
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูกาลผลิตปี 2566-2567 จากช่วงที่ผ่านมาขายได้ในราคา 14,800 บาทต่อตัน แต่ขณะนี้ราคาปรับลดลง เมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยวแล้วนำข้าวออกไปขายให้กับโรงสี ความชื้นร้อยละ 25 จะถูกกดราคาเหลือ 11,000 บาทต่อตัน รัฐบาลจึงให้ ธ.ก.ส. ออกสินเชื่อชะลอการขายในราคา 12,300 บาท/ตัน ระยะเวลา 5 เดือน และยังจ่ายค่าเก็บรักษาข้าวในยุ้งฉางอีก 1,500 บาท เป้าหมาย 3 ล้านตัน จึงแนะนำให้ชาวนาอย่ารีบขายข้าวออกสู่ตลาดในช่วงนี้ เพราะจะทำให้ข้าวเปลือกหอมมะลิล้นตลาด
อีกมาตรการดูแลราคาข้าว ด้วยการให้สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร ผลักดันราคาในตลาดด้วยการรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นร้อยละ 25 ในราคา 12,200 บาทต่อตัน โดยรัฐบาลให้กำไร 300 บาท ทำให้ชาวนาได้ประโยชน์ ขายได้ในราคา 12,500 บาทต่อตัน เป้าหมายช่วยเหลือ 1 ล้านตัน ทั้งสองมาตรการรัฐบาลใช้งบประมาณดูแล 10,600 ล้านบาท
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลยังหาแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติม ในเรื่องการช่วยเหลือค่าบริหารจัดการ ลดต้นทุนปลูกข้าว ช่วยเหลือเกษตรกร 1,000 บาท/ไร่ ไม่เกินรายละ 20 ไร่ รวมเป็นเงินรับการช่วยเหลือไม่เกิน 20,000 บาท ใช้เงินประมาณ 56,000 ล้านบาท เรื่องดังกล่าวต้องหารือในที่ประชุม นบข. เร็วๆ นี้ หากได้ข้อสรุป เตรียมนำเสนอ ครม. ในช่วงต่อไป
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การให้กลุ่มสหกรณ์รับซื้อข้าวเปลือกนำตลาด จะเป็นกลไกผลักดันให้ราคาขยับขึ้น ซึ่งได้หารือร่วมกับโรงสี ผู้ส่งออก เพื่อให้กลไกตลาดทำงานมากขึ้น และรับซื้อข้าวในราคาเป็นธรรม สะท้อนต้นทุนเกษตรกร และเร่งหาช่องทางให้โรงสีเข้าถึงสินเชื่อ กลับมารับซื้อข้าวได้อย่างเต็มกำลัง สำหรับผลผลิตข้าวทุกประเภทในปีนี้ประมาณ 10 ล้านตัน เมื่อราคาข้าวเปลือกมีแนวโน้มลดลง จึงต้องช่วยเหลือค่าเก็บข้าวในยุ้งฉางอีก 1,000 บาทต่อตัน ในสัปดาห์หน้าคาดว่าจะหาข้อสรุปแนวทางช่วยเหลือ เพื่อลดต้นทุนเกษตรกร ผ่าน ธ.ก.ส. สำรองเงินออกไปก่อน ซึ่งมีสภาพคล่องเพียงพอ คาดว่าไม่เกินเพดานร้อยละ 32 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ม.28