มูลนิธิการพัฒนาสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศจีน และศูนย์วิจัยจีนใหม่ (NCR) คลังสมองของสำนักข่าวซินหัว ได้ออกรายงาน “เพื่อโลกที่ดียิ่งขึ้น – มองดูทศวรรษที่ผ่านมาของการร่วมสร้างแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจากมุมมองสิทธิมนุษยชน” (For a Better World — Looking at the Past Decade of Jointly Pursuing the Belt and Road Initiative from a Human Rights Perspective) เมื่อวันพฤหัสบดี (7 ธ.ค.) ที่ผ่านมา
รายงานฉบับนี้สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในโลกผ่านกรณีตัวอย่างและข้อมูลจำนวนมาก พร้อมสรุปแรงกระตุ้นจากแผนริเริ่มฯ ต่อการกำกับดูแลสิทธิมนุษยชนระดับโลก โดยแผนริเริ่มฯ มีบทบาทเชิงบวกในการช่วยเหลือประชาชนท้องถิ่นมีสิทธิในการมีชีวิตรอดและการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยการปรับปรุงการเข้าถึงสิ่งจำเป็นต่อชีวิตและการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน การส่งเสริมสิทธิในการทำงาน การเพิ่มรายได้ของผู้อยู่อาศัย การพัฒนาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ การยกระดับมาตรฐานทางการศึกษา การสนับสนุนการพัฒนาทางวัฒนธรรม การเคารพธรรมเนียมประเพณีทางศาสนา การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเชิงนิเวศ และการส่งเสริมสิทธิและผลประโยชน์ของคนกลุ่มพิเศษ กรณีตัวอย่างจำนวนมากในรายงานฉบับนี้ ได้สะท้อนว่าความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนำมาซึ่งผลประโยชน์อันจับต้องได้แก่กลุ่มประเทศหุ้นส่วนและประชาชนท้องถิ่น
การร่วมสร้างแผนริเริ่มฯ ช่วยตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของผู้อาศัยในกลุ่มประเทศหุ้นส่วน และสนับสนุนความร่วมมือหลากหลายด้านเป็นวงกว้างมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมบริษัทต่างๆ แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแข็งขัน ช่วยชุมชนท้องถิ่นปรับปรุงสภาพชีวิตความเป็นอยู่และมีสิทธิในการพัฒนาด้านต่างๆ อาทิ การศึกษา วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นกุญแจสำคัญของความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยโครงการความร่วมมือจำนวนมากได้มอบสิ่งอำนวยความสะดวกสบายมากมายแก่ประชากรท้องถิ่น เช่น การขนส่ง การสื่อสาร และที่อยู่อาศัย” รายงานระบุ
รายงานยังระบุอีกว่า จีนได้ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในกลุ่มประเทศหุ้นส่วนตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และบรรเทาความหิวโหยของประชากรท้องถิ่นตลอดทศวรรษแห่งความร่วมมือทางการเกษตรภายใต้กรอบการปฏิบัติงานตามแผนริเริ่มฯ ทั้งนี้ ความหิวโหยเป็นหนึ่งในปัญหาร้ายแรงมากที่สุดของโลกมายาวนาน และความร่วมมือทางการเกษตรเป็นหนึ่งในด้านสำคัญของการร่วมสร้างแผนริเริ่มฯ
จีนได้ลงนามเอกสารความร่วมมือทางการเกษตรและประมง กับกลุ่มประเทศหุ้นส่วนและองค์กรระหว่างประเทศเกือบ 90 แห่ง จำนวนมากกว่า 100 ฉบับ และจัดตั้งกลไกความร่วมมือทางการเกษตรระดับภูมิภาค อาทิ กลไกความร่วมมือ “10+10” สำหรับสถาบันวิจัยการเกษตรจีน-แอฟริกา ซึ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารระดับภูมิภาคอย่างแข็งขัน จัดส่งทีมผู้เชี่ยวชาญและช่างเทคนิคทางการเกษตรไปยังกว่า 70 ประเทศและภูมิภาค จำนวนมากกว่า 2,000 คน เมื่อนับถึงปี 2021 ซึ่งส่งเสริมและสาธิตเทคโนโลยีทางการเกษตรในหลายประเทศมากกว่า 1,500 รายการ และช่วยเหลือโครงการต่างๆ เพิ่มการผลิตเฉลี่ยร้อยละ 40-70
เครดิตภาพ สำนักข่าวซินหัว