ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวีของจีน กลายเป็นรถยนต์ยอดนิยมอันดับ 1 ของโลก แม้กระทั่งในเมืองไทยก็มียอดขายแซงหน้าเจ้าตลาดรายเดิมๆ แบบไม่เห็นฝุ่น ทั้งที่นโยบายรถอีวีของจีนเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย Made in China 2025 จีนทำได้อย่างไร การเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทย สร้างโอกาสอะไรบ้าง ไปหาคำตอบจาก ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานหอการค้าและเลขาธิการ หอการค้าไทยในจีน ให้สัมภาษณ์ในรายการ จับคู่ธุรกิจ Business Matching สถานีวิทยุ ร.ด.F.M. 96.0 ดำเนินรายการโดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ บรรณาธิการบริหาร The Leader Asia
ดร.ไพจิตรกล่าวถึงปรากฏการณ์อีวีฟีเวอร์ที่ลามไปทั่วโลกขณะนี้ว่า เป็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจอุตสาหกรรมรถยนต์จากระบบสันดาปสู่รถยนต์พลังงานทางเลือก เพราะรัฐบาลจีนรู้ดีว่าไม่มีทางที่จีนจะพัฒนาเทคโนโลยีหรือความสามารถทางการแข่งขัน ขึ้นไปสู้กับรถยนต์แบรนด์ตะวันตกหรือแม้กระทั่งเกาหลี ญี่ปุ่น แต่พอเทคโนโลยีพัฒนา กระแสของโลกเปลี่ยนแปลงมาสู่เรื่องสีเขียว ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่จีนมีเทคโนโลยีในมือและต่อยอดการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจีนมีทั้งวัตถุดิบและผู้ประกอบการที่เก่งในเรื่องเหล่านี้ จึงเดินหน้าพัฒนาทั้งระบบนิเวศ
“ผมคิดว่าจีนพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าหรือพลังงานทางเลือกจริงจังประมาณ 15 ปี ในการก้าวขึ้นแซงหน้าบริษัทยักษ์ใหญ่รายเดิมในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ในฝั่งของผู้บริโภคก็หันมาใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกมากขึ้น” ดร.ไพจิตร กล่าว
ดร.ไพจิตร ฉายภาพการวางแผนพัฒนาเรื่องนี้ของรัฐบาลจีนว่า รถยนต์อุตสาหกรรมทางเลือกเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้โครงการ Made in China 2025 ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2015 ไม่ใช่เฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่จีนมองไปถึงรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน เป็นรูปแบบที่จีนเลือกสำหรับรถยนต์พลังงานทางเลือก ปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก จากเดิมเราแทบไม่รู้จักรถยนต์แบรนด์จีน กลับมายอมรับและนิยมใช้มากขึ้น กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลก รัฐบาลจีนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการก้าวไปสู่เวทีโลก จนกลายเป็นผู้นำการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ด้วยการพัฒนาทั้งองคาพยพ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทภาครัฐ เอกชน หรือประชาชนผู้บริโภค พอสิ่งต่างๆ เหล่านี้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ความพร้อมของรถยนต์ได้รับการพัฒนา ผู้ประกอบการก็แข็งแกร่งมากขึ้น ยิ่งได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐก็ยิ่งก้าวออกไปในเวทีโลกด้วยความพร้อม
“จีนคิดค้นสารพัดนวัตกรรมออกมาในช่วงหลายปี ถ้าเอกชนไม่แข็งแกร่ง ต่อให้ภาครัฐส่งเสริมอย่างไรก็ไม่มีทางสำเร็จ หากไม่พัฒนาจริงจัง ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ก็คงไม่มีนวัตกรรมดีๆ ออกมา และนวัตกรรมเหล่านั้นให้ดีอย่างไร ถ้าภาคประชาชนในประเทศซึ่งเป็นฐานตลาดรองรับแรกสำหรับสินค้าบริการของจีนไม่ยอมรับ ก็ไม่สามารถก้าวสู่ความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน คนจีนเป็นคนที่กล้าลองของใหม่ ถ้าของที่ผลิตออกมาเป็นของดี ก็ยิ่งทำตลาดได้อย่างดี ทำให้มีแบรนด์สินค้ารถยนต์ไฟฟ้าออกมาจำนวนมากกว่า 200 แบรนด์ เท่ากับว่าจีนใช้เวลา 15 ปีก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรถยนต์พลังงานทางเลือกของโลก สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาแค่ 15 ปี เหมือนกะพริบตาครั้งเดียว จีนมาแล้ว แซงแล้ว ทิ้งห่างแล้ว”
ดร.วิบูลย์อธิบายถึงแนวทางการสนับสนุนของรัฐบาลจีนทำให้ตลาดรถยนต์อีวีประสบความสำเร็จว่า ถ้าเราไปดูในหัวเมืองใหญ่ๆของจีน เซียงไฮ้ เซินเจิ้น หรือ กวางโจว สัดส่วนของรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉียด 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว แซงเป้าหมายโดยรวมของทั้งประเทศที่ตั้งไว้ 30 เปอร์เซ็นต์ในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือปี 2025 เท่ากับว่ามาถึงวันนี้จีนแตะ 30 เปอร์เซ็นต์เรียบร้อยแล้ว เร็วกว่าเป้าหมาย 2 ปี บทบาทภาครัฐสำคัญมาก ซึ่งใช้มาตรการทรัพยากรที่มีในมือ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจลงมาเป็นผู้นำในการเปิดตลาด เพราะเมื่อเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ถ้าผลิตออกมาแล้วไม่มีคนซื้อ จะเกิดความเสียหายมหาศาล ถ้าไม่มีคนซื้อ ก็ไม่มีรายได้ ไม่มีกำไร ธุรกิจไปไม่รอด อีโคโนมีออพสเกลไม่เกิด ต้นทุนต่อหน่วยก็แพง รัฐบาลต้องมาสนับสนุนให้เงินอุดหนุนแพงขึ้น แต่เมื่อรัฐวิสาหกิจลงมานำร่อง เอกชนก็กล้าเดินตาม
“หนึ่งในมาตรการที่คนจีนชื่นชอบมากคือป้ายทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า เพราะในหัวเมืองใหญ่ๆ ค่าป้ายทะเบียนแพงมาก อย่างเซียงไฮ้ค่าป้ายประมาณ 4 แสนบาท เท่านั้นไม่พอ มีเงินอาจไม่ได้ป้าย เพราะเขาใช้วิธีการคล้ายล็อตเตอรี่ เดือนหนึ่งมีโควตาประมาณ 100 คันเท่านั้น เพราะฉะนั้นก็ต้องรอคิว แต่ถ้าซื้อรถยนต์พลังงานทางเลือกหรือรถยนต์ไฟฟ้า สามารถได้ป้ายทะเบียนเลย และไม่ต้องจ่ายเงิน ประหยัด 4 แสนบาท ขณะที่การซื้อประกันภัยรถยนต์ ลดค่าธรรมเนียม 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะบริษัทประกันภัยใหญ่ๆเป็นของรัฐ เพื่อให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายถูก สร้างความมั่นใจว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีคุณภาพดี ไม่ต้องกลัวเสียหาย นี่คือการใช้สรรพกำลังองคาพยพที่เขามีอยู่ในมิติเชิงบวก รัฐวิสาหกิจของเขาไม่ใช่ตัวถ่วง แต่ใช้เป็นตัวกระตุ้นกลไกตลาด แข่งขันตามกลไกตลาด กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในภาคเอกชน ถ้าเอกชนไม่ไป รัฐไปเอง นำร่องไปก่อน สำเร็จแล้วเอกชนเดินตาม ขณะที่เทคโนโลยีหลายส่วนเขาเรียนรู้และผ่องถ่ายระหว่างกัน ยิ่งทำให้อีโคโนมีออพสเกลเกิดประโยชน์มากขึ้น กลายเป็นตลาดใหญ่ในวงกว้าง”
สำหรับคำถามว่ารถยนต์ไฟฟ้าจีนส่งผลอย่างไรกับประเทศไทย ดร.ไพจิตรมองว่า การเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนในไทย จะทำให้เป้าหมายเป็น “ฮับอีวี” ของไทยในภูมิภาคมีความเป็นไปได้สูง แต่ละรายไม่ใช่เพียงแค่เข้ามาทำตลาด แต่เข้ามาจัดสรรพื้นที่เปิดโรงงาน เปิดสายการผลิต ขยายซัพพลายเชนไปในกลุ่มแบตเตอรี สถานีชาร์จ เป็นสิ่งดีที่จะทำให้ความสามารถทางการแข่งขันของไทยในเวทีระหว่างประเทศแข็งแกร่งขึ้น ขณะที่ไทยมีแรงงานฝีมือคุณภาพรองรับ ซึ่งมีความชำนาญจากรถยนต์สันดาป ทำให้เราผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น เนื่องจากชิ้นส่วนอุปกรณ์น้อยกว่า ความซับซ้อนน้อยกว่า มีโอกาสสูงที่เราจะพัฒนาขึ้นไปเป็นผู้นำยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคแถบนี้ ทำให้เราส่งออกได้ทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก ถ้าไม่มีค่ายรถยนต์อีวีของจีนเข้ามาตั้งฐาน ขณะที่รถยนต์สันดาปล้มหายตายจาก คนจะตกงานอีกมากมาย สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมาก
“สำหรับประเทศไทยผมดูปัจจัยต่างๆแล้ว เชื่อว่านี่อาจจะเป็นหนึ่งในซัคเซสเคสของเราในการพัฒนาฐานอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เกิดการสร้างงาน เกิดซัพพลายเชน สถาบันการศึกษาต่อไปก็อาจจะมีหลักสูตรเฉพาะ เรียนจบออกมาแล้วมีงานทำ ในปี 2567 หอการค้าไทยจีนจีนก็จะพาคณะผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ของประเทศไทย คณาจารย์ในสาขาที่เกี่ยวข้องไปดูงานที่เมืองจีน ดูการพัฒนาระบบนิเวศ ทำอย่างไรเขาถึงใช้เวลาแค่ 15 ปีก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลก ยอดขายรถยนต์อีวีขยายตัวสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปี”
ส่วนมุมมองที่ว่าจริงหรือที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนของจีน ดร.ไพจิตร กล่าวว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย กฎระเบียบ ความสามารถในการแข่งขัน เราอย่าคิดว่าเงินจากการขายรถยนต์อีวีจะกลับไปที่บริษัทแม่เสมอไป เพราะเมื่อเขาได้รับผลกำไร เขาอาจจะขยายการลงทุนในไทยเพิ่มอีก เกิดการลงทุน การจ้างงานเพิ่มสูงขึ้น
“ยกตัวอย่างโรงงานรถยนต์อีวีได้รับการยกเว้นภาษี 8 ปี เมื่อหมด 8 ปีเขาก็ต้องเริ่มจ่ายภาษีตามปกติ แม้เขาจะขยายโรงงานเฟส 2 โดยไม่ต้องจ่ายภาษี เพราะได้รับมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ แต่เฟสแรกต้องจ่ายภาษี และผมไม่คิดว่าบริษัทต่างๆ ของจีนหรือของประเทศอื่นๆ ที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทย หวังขายแค่ตลาดในประเทศเท่านั้น เขาต้องการผลิตเพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก ถ้าเรามีมาตรการรองรับ เขาจะต่อยอดไปเรื่อยๆ วันนี้เราพูดเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ไม่กี่ปีข้างหน้าต้องพูดเรื่องรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งเป็นการต่อยอดขึ้นไปอีกระดับ ทำอย่างไรประเทศไทยจะซึมซับรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และต่อยอดเทคโนโลยีต่างๆ ให้เป็นของเราได้อย่างแท้จริง อุตสาหกรรมนี้เป็นหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้ เรียนลัด จากหลายสิ่งที่จีนเข้ามาลงทุนได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เรากำหนด สร้างคอมมูนิตี้ เพื่อในระยะยาวเราจะมีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของไทยที่สามารถแข่งขันได้อย่างแท้จริง ด้วยกฎระเบียบที่เท่าเทียมกัน” ดร.ไพจิตร กล่าวทิ้งท้าย