วันอังคาร, กันยายน 24, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมกสม. เผยผลการดำเนินงานและติดตามการขับเคลื่อนงานต่อต้านการทรมานปี 2566 หลัง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มีผลบังคับใช้

Related Posts

กสม. เผยผลการดำเนินงานและติดตามการขับเคลื่อนงานต่อต้านการทรมานปี 2566 หลัง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มีผลบังคับใช้

นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยผลการดำเนินงานและติดตามการขับเคลื่อนงานต่อต้านการทรมานในรอบปี 2566 ระบุว่า ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามและให้ข้อเสนอแนะต่อการพิจารณาและผลักดันร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งกฎหมายผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นำมาซึ่งความยินดียิ่งของทุกภาคส่วนที่ร่วมกันผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้มานานกว่า 10 ปี

ภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการที่สำคัญ เช่น คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกฎหมาย ด้านนิติวิทยาศาสตร์ แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ และแพทย์ทางจิตเวชศาสตร์ อีกทั้ง มีการจัดทำระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมตัว การฝึกอบรมและการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ถอนคำแถลงตีความ (Interpretative Declaration) สำหรับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ซึ่งเดิมเคยจัดทำคำแถลงตีความไว้ในข้อบทที่ 1 (นิยามของคำว่าทรมาน) ข้อบทที่ 4 (การกำหนดให้การกระทำทรมานเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา รวมทั้งสำหรับการพยายามกระทำทรมาน การสมรู้ร่วมคิด หรือการมีส่วนร่วมในการทรมาน) และข้อบทที่ 5 (การกำหนดเขตอำนาจเหนือความผิดทั้งปวง) เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายกำหนดฐานความผิดและบทลงโทษการทรมานฯ เป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ดี เมื่อประเทศไทยมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 แล้ว จึงถือเป็นการตรากฎหมายเฉพาะเพื่อกำหนดมาตรการป้องกัน ปราบปราม เยียวยา ดำเนินคดี และลงโทษการทรมานฯ อย่างสมบูรณ์ จึงทำให้ประเทศไทยสามารถถอนคำแถลงดังกล่าว อันเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามหลักการของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ซึ่งสหประชาชาติได้แจ้งเวียนตราสารดังกล่าวของไทยแล้ว และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2566

นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ยังส่งผลให้มีการยกเลิกศูนย์ธำรงวินัยของกองทัพบก (ทบ.) การจัดตั้งศูนย์รับแจ้งการควบคุมตัวและดำเนินการตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ของกรมการปกครอง รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (ศป.ทส.) ของสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้ พบว่าสถิติการรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมดตั้งแต่ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 – วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมาน การลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี จำนวน 51 ราย การบังคับสูญหาย จำนวน 6 ราย แต่ยังไม่ปรากฏรายงานผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนและการฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งภาคประชาสังคมได้ออกมาแสดงข้อห่วงกังวลในประเด็นดังกล่าวด้วย

ขณะเดียวกัน กสม. เห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมิได้เข้าร่วมเป็นภาคีในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (Optional Protocol to the Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – OPCAT) ซึ่งได้กำหนดกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติไว้ (National Preventive Mechanism – NPM) ส่งผลให้ไทยยังขาดกลไกการเข้าตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวอันสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเหตุซ้อมทรมาน ซึ่งมักเกิดขึ้นในกระบวนการจับกุมตัวและการคุมขังโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ กสม. จึงขอเน้นย้ำให้รัฐบาลพิจารณาเข้าร่วมเป็นภาคีในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ หรือ OPCAT ตามที่ประเทศไทยได้เคยให้คำตอบรับและคำมั่นต่อนานาชาติไว้ โดย กสม. พร้อมเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตามกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ หรือ NPM ที่เป็นกลางและเป็นอิสระ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายในการป้องกันและคลี่คลายปัญหาการซ้อมทรมานในประเทศให้ลดลง

ในด้านการดำเนินงานของ กสม. ทุกชุดที่ผ่านมา ล้วนให้ความสำคัญกับภารกิจการตรวจเยี่ยมสถานควบคุมตัวซึ่งเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยใช้มาตรฐานที่มีอยู่แล้ว เช่น ข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) และข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) เป็นกรอบในการดำเนินการ ปัจจุบัน กสม. อยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อให้รัฐบาลเร่งเข้าเป็นภาคีพิธีสาร OPCAT และเตรียมความพร้อมที่จะยกระดับมาตรฐานการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานการทำหน้าที่กลไก NPM ตามพิธีสาร OPCAT โดยสำนักงาน กสม. ได้จัดตั้งกลุ่มงานตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวและการป้องกันการทรมานเป็นหน่วยเฉพาะเพื่อขับเคลื่อนงานต่อต้านการทรมาน ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของ กสม.

นอกจากนี้ กสม. ยังมีนโยบายสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการส่งเสริมการบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ให้มีประสิทธิภาพ โดยได้ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุดริเริ่มโครงการอบรมให้ความรู้แก่ตัวแทนภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงภายใต้การประกาศใช้กฎหมายในสถานการณ์พิเศษ เพื่อให้ประชาชนมีความตระหนัก มีส่วนร่วมเฝ้าระวังและแจ้งเหตุเมื่อพบเห็นการกระทำทรมานและการบังคับให้สูญหาย โดยสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นหน่วยงานสำคัญตามกลไกของกฎหมายดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ สำนักงาน กสม. ยังได้ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือ มาตรฐาน และระบบการป้องกัน คุ้มครอง และเยียวยาตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ครอบคลุมใน 3 มิติ ได้แก่ การป้องกัน การคุ้มครอง และการเยียวยา ด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts