ผู้เสียหายจากประกันโควิด ทั้งแบบ “เจอ-จ่าย-จบ” และแบบอื่น เข้าร้องเรียน คปภ. เพื่อขอให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
วันนี้ (15 มี ค.2565) ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. นายรณรงค์ แก้วเพชร ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม นำผู้เสียหายที่ได้รับความเดือดร้อนจากการทำประกันภัยโควิด ทั้งประเภท “เจอ จ่าย จบ” รวมถึงกรมธรรม์ ประเภทอื่นที่ไม่ได้รับเงินค่าสินไหม มาร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
โดย นายรณรงค์ ระบุว่า พาประชาชนผู้เสียหาย จากการทำประกันแล้วไม่ได้รับเงินค่าสินไหม โดยเฉพาะประเภท “เจอ จ่าย จบ” โดยเรียกร้องให้ คปภ.เร่งรัดการเบิกจ่ายให้เร็วที่สุด หบังเบิกจ่ายไม่ได้นานกว่า 1 เดือนแล้วโดยขณะนี้มีผู้เดือดร้อนที่รวมตัวกันประมาณ 10,000 คน เป็นกรมธรรม์จากบริษัทไทยประกันภัย 4,000 คนและบริษัทอาคเนย์ประกันภัย 3,000 คน พร้อมยืนยันว่า บริษัทประกันจะอ้างว่า ประสบภาวะขาดทุนไม่ได้ เนื่องจาก มี คปภ.คอยกำกับดูแลอยู่ตามกฎหมาย หากทำไม่ได้ ก็ให้ยุบ คปภ.ไปเลย
นส.อรอนงค์ หลวงวิเศษ 1 ในผู้เดือดร้อน เดินทางมาจาก จ.เชียงใหม่ บอกว่า ติดโควิดทั้งครอบครัว เป็นเพียงมนุษย์เงินเดือน ไม่มีใครอยากติดเชื้อ แล้วต้องเสียเงิน ค่าตรวจ RTPCR กว่า 3,000 บาท หวังจะได้เงินค่าสินไหม สุดท้าย ยื่นเรื่องกว่า 30 วันแล้วยังไม่ได้รับเงิน
ด้าน นส.ปิยวรรณ จันทร์เอกหล้า ตัวแทนผู้เดือดร้อน จากการทำประกันภัยโควิด ประเภทเงินชดเชยรายได้ระบุว่า ถูกบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ปฏิเสธไม่จ่ายเงิน อ้างคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ. ) 5 ข้อ เช่น ต้องเป็นผู้ป่วยใน หรือไข้สูง 39 องศา แม้ภายหลัง สธ.จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง แต่สุดท้าย อ้างว่ายังไม่ได้รับคำสั่งจาก คปภ. จึงยังไม่ได้เงินชดเชย พร้อมเรียกร้อง ให้ นางสาว นวลพรรณ ล่ำซำ “มาดามแป้ง” ผู้บริหารเมืองไทย ประกันชีวิตช่วยเร่งรัดจ่ายเงินด้วย
ขณะที่ นายโสรัจจ์ แรกสกุลชัย ผู้ช่วยเลขาธิการ คปภ. ฝ่ายพิทักษ์สิทธิประโยชน์ ระบุว่าว่าจะปกป้องและพิทักษ์สิทธิประชาชนผู้เอาประกันภัยเต็มที่ ส่วนที่มีการจ่ายสินไหมล่าช้า กรณีเจอจ่ายจบส่วนหนึ่ง เพราะ เข้าใจเงื่อนไข ไม่ตรงกันอยู่ สุดท้าย ยืนยันว่า คนที่เป็นผู้ป่วยใน หรือ ฮอสพิเทล ต้องได้รับเงินชดเชย
สำหรับกรณี บริษัทอาคเนย์ฯ และบริษัทไทยประกัย ที่มีกรมธรรม์ประเภท “เจอจ่ายจบ” ทั้ง2 บริษัทมีการขอเลิกการประกอบธุรกิจและขอคืนใบอนุญาต ตามกฎหมาย ซึ่ง คปภ.ได้กำหนดเงื่อนไข ให้ปฏิบัติ ในหลักการคือ ผู้เอาประกันภัยต้องไม่ได้รับผลกระทบ แต่เนื่องจาก ทั้ง 2บริษัทฯ มีปัญหา เรื่องสภาพคล่อง ซึ่ง คปภ.แจ้งบริษัทฯว่าต้องทำตามเงื่อนไข แต่หากบริษัทฯ ไม่จ่าย คปภ.พร้อมยกระดับทางกฎหมายคุ้มครองประชาชนต่อไป
ส่วนกรณี ประกันภัยประเภท เงินชดเชยการขาดรายได้ การรักษาแบบ โฮมไอโซเลชั่น หรือ รักษาตัวที่ฮอสพิเทล ไม่มีอยู่ในกรมธรรภ์อยู่แล้ว แต่ ล่าสุดได้หารือกับผู้ประกอบธุรกิจประกัน ได้ข้อตกลงเบื้องต้นว่า จะช่วยจ่ายสินไหม เบื้องต้น ไม่เกิน 12,000 บาท ซึ่ง คปภ.ต้องออกเป็นระเบียบปฏิบัติให้ต่อไป