วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
หน้าแรกการเมืองอดีตเลขาฯ สภาผู้แทนราษฎรประวัติด่างพร้อยมัวหมอง

Related Posts

อดีตเลขาฯ สภาผู้แทนราษฎรประวัติด่างพร้อยมัวหมอง

“….“พรพิศ” ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลซึ่งมีประวัติด่างพร้อย มีมลทินมัวหมอง มีความประพฤติและพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ กรณีถูกร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ และกรณีย้ายข้าราชการรัฐสภาสามัญไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรมและเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ…”

เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ 2567 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนได้ยืนหนังสือร้องเรียนไปยัง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อร้องเรียนให้สอบกรณี นางพรพิศ เพชรเจริญ อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเป็น ก.ร. ผู้ทรงคุณวุฒิ มีมลทินมัวหมอง มีความประพฤติ และพฤติและพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่ โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า

ด้วยสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือแจ้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนอชื่อบุคคลผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียนข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ เพื่อเป็น ก.ร. ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๑ ตำแหน่ง ภายในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ปรากฏว่าได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนอชื่อรายชื่อนางพรพิศ เพชรเจริญ อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลซึ่งมีประวัติด่างพร้อย มีมลทินมัวหมอง มีความประพฤติและพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ กรณีถูกร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ และกรณีย้ายข้าราชการรัฐสภาสามัญไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรมและเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีคำสั่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ ๔๒/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๖ แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง โดยมีข้อกล่าวหาและข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้

๑. หนังสือร้องเรียนของ นายวัชระ เพชรทอง และ นายสมบูรณ์ ทองบุราณ ฉบับลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ กล่าวหา นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับพวก และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้กระทำการส่อทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ โดยมีคำสั่งงานแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้รับจ้างดำเนินงานเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดของงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ตามสัญญาจ้างก่อสร้างข้อ ๑๙ โดยลดแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ด หน้า ๑๕ มม. ๑ แผ่น ในผนังกันเสียงและผนังดูดซับเสียงห้องประชุมกรรมาธิการบริเวณ ชั้น ๓ และชั้น ๔ จำนวน ๑๑๓ ห้อง ตามความเห็น (ข้อเสนอ) ของผู้รับจ้าง แต่ไม่ปฏิบัติตามความเห็นของผู้ออกแบบ คำสั่งของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในการลดสเปคผนังห้องประชุมกรรมาธิการดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยหลักบริหารสัญญาประกอบพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐

๒. หนังสือร้องเรียนของ นายวัชระ เพชรทอง ลงวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๕ กล่าวหา นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรณีแถลงข่าวว่า “การตรวจรับไม่แล้วเสร็จ” อันเป็นความเท็จ โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันศุกร์ที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๕ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ นายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ ได้ร่วมกันแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชน ในกรณีไม้ที่ทำการปูพื้นอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ โดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ชี้แจงกรณีไม้ปูพื้นว่า “การตรวจรับไม่แล้วเสร็จ” โดย นายวัชระ เพชรทอง ได้มีหนังสือโต้งแย้งและแถลงข่าวไม้ที่ใช้ปูพื้นอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดในสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ ซึ่งกำหนดให้ใช้ไม้ตะเคียนทอง แต่จากการตรวจสอบพบว่าเป็นไม้พะยอม ซึ่งไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดในสัญญาทำให้กรรมการตรวจการจ้างจำนวนหนึ่งนำประเด็นดังกล่าวไปพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการตรวจการจ้าง ซึ่งต่อมาคณะกรรมการตรวจรับการจ้างได้มีหนังสือไปถึงกรมป่าวไม้ เพื่อให้ตรวจสอบไม้ที่ใช้ปูพื้นอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยกรมป่าไม้ได้แจ้งผลการตรวจสอบว่าเป็นไม้พะยอม ไม่ใช้ไม่ตะเคียนทองตามข้อกำหนดในสัญญา

๓. หนังสือร้องเรียนของ นายวัชระ เพชรทอง ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕ กล่าวหา นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีพฤติกรรมทุจริตในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ และกรณีปรากฏผลการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างไม้ตัวอย่างไม้ที่ใช้ปูพื้นอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ปรากฏว่า ในสัญญาระบุให้ผู้รับจ้างใช้ไม้ชนิดตะเคียนทองปูพื้นอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แต่ปรากฏผลการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างไม้ในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ จากกรมป่าไม้ตามหนังสือที่ ทส ๑๖๐๗.๕๒๐/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ คณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ ได้มีหนังสือขอให้กรมป่าไม้ตรวจพิสูจน์ชนิดของไม้ตัวอย่าง โดยปรากฏว่าเป็นไม้พะยอมมิใช่ไม้ตะเคียนทองตามข้อกำหนดในสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ซึ่งการใช้ไม้พะยอมมาปูพื้นแทนไม้ตะเคียนทองนั้นเป็นเหตุให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทน (ผู้ว่าจ้าง) ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เนื่องจากคุณภาพไม้ไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญา และมีคุณภาพต่ำกว่าที่กำหนดในสัญญา ประกอบกับได้มีการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างไปแล้ว เป็นจำนวนเงินกว่า ๑๑,๐๐๐ ล้านบาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันล้านบาท)

๔. หนังสือร้องเรียนของ นายวัชระ เพชรทอง ลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ กล่าวหาในกรณีการตีความบิดเบือนข้อกำหนดตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ เพื่อให้มีการยอมรับไม้พะยอมหรือไม้ชนิดอื่นในการปูพื้นอาคารรัฐสภาแห่งใหม่แทนไม้ตะเคียนทอง และกรณีตีความบิดเบือนข้อกำหนดตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ เกี่ยวกับงานงวดสุดท้าย

๕. หนังสือร้องเรียนของ นายวัชระ เพชรทอง ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ กล่าวหา นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรณีการนำเสนอข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เนื่องจากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ได้ลงข่าวเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ว่าได้เกิดฝนตกหนักที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จนทำให้การจัดนิทรรศการที่รัฐสภาจัดบริเวณพื้นไม้ชั้น ๑ อาคารรัฐสภา ได้รับผลกระทบ และมีน้ำฝนท่วมพื้นที่อาคารรัฐสภา โดยผู้ร้องเห็นว่าการชี้แจงดังกล่าวเป็นการรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา และเป็นการรายงานโดยปกปิดข้อความที่ควรต้องแจ้ง (ต่อสาธารณะ) ถือว่าเป็นการรายงานเท็จ

๖. หนังสือของ นายวัชระ เพชรทอง ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๖ ติดตามความคืบหน้าและข้อเท็จจริงการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ และขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกับพวก กรณีอนุมัติเบิกจ่ายเงินงวดงานไม้ตะเคียนทองและลดสเปคผนังห้องประชุมกรรมาธิการ จำนวน ๑๑๓ ห้อง (ถูกสเปค ๖๕ ห้อง ผิดสเปค ๔๘ ห้อง)

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจึงถือได้ว่าสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งครอบครองข้อมูลข้อเท็จจริงตามคำสั่งสภาผู้แทนราษฎร ที่ ๔๒/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๖ เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ขัดกับจริยธรรมอย่างร้ายแรงของบุคคลดังกล่าวข้างต้น และเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการดำเนินการเลือก ก.ร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ละเลย เพิกเฉย ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติราชการโดยมิชอบปกปิดข้อมูล เพื่อให้เกิดความเสื่อมเสียและเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร และในฐานะประธาน ก.ร. รวมถึงประชุมสภาอันทรงเกียรติ กล่าวคือ ไม่ได้มีการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ก.ร. ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วกันในสาธารณะและหมู่ข้าราชการรัฐสภาสามัญว่านางพรพิศ เพชรเจริญ เป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยกรณีโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ จึงถือได้ว่านางพรพิศ เพชรเจริญ เป็นบุคคลซึ่งมีประวัติด่างพร้อย มีมลทินมัวหมอง มีความประพฤติและพฤติกรรมที่ขัดจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ ไม่เหมาะสมที่จะได้รับการเลือกเพื่อให้เข้ามาทำหน้าที่ ก.ร. ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีหน้าที่สำคัญตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ หรือไม่ กล่าวคือ การเสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่ส่วนราชการสังกัดรัฐสภาเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล , การกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและมาตรฐานทางการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการตีความและวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ รวมถึงปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.ร.

จากเหตุผลข้อเท็จจริงด้วยประการทั้งปวงดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โปรดแจ้งไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้รับทราบข้อมูลนี้เพื่อประกอบการพิจารณาเลือก ก.ร. ผู้ทรงคุณวุฒิต่อไป และโปรดดำเนินการตามกฎระเบียบของทางราชการกับข้าราชการที่กระทำโดยจงใจปกปิดข้อมูลที่ควรแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ประโยชน์ต่อไปด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts