วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีน'จีน'ยังเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนจีดีพีโลก ครองอันดับ1 คู่ค้าของประเทศส่วนใหญ่

Related Posts

‘จีน’ยังเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนจีดีพีโลก ครองอันดับ1 คู่ค้าของประเทศส่วนใหญ่

เมื่อวันจันทร์ (26 ก.พ.) ซีเอ็นบีซี (CNBC) อ้างอิงธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) รายงานว่าจีนยังคงเป็นคู่ค้ารายสำคัญของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก แม้จะมีสิ่งที่เรียกว่าการแยกตัว (decoupling) ออกจากจีน

สำนักข่าวซินหัว ระบุว่า อัลเบิร์ต ปาร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารฯ บอกกับซีเอ็นบีซีว่าจีนน่าจะยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก โดยแม้บางประเทศต้องการจำกัดการค้ากับจีน แต่แนวคิดการแยกตัวในระดับโลกที่กว้างขึ้นยังปรากฏให้เห็นน้อยมาก

“สำหรับเรื่องเล่าที่กล่าวว่าจีนกำลังถูกแยกออกจากเศรษฐกิจโลก ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มีแนวโน้มกล่าวเกินจริงไปมาก หรือเกิดขึ้นแค่บางส่วนเท่านั้น” ปาร์กกล่าว

ต้องยอมรับว่าจุดเด่นของจีนที่กลายเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศต่างๆทั่วโลกก็คือ การเปิดโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ Belt and Road Initiative (BRI)  ทำให้การค้าจีน-โลกใกล้ชิดกันมากขึ้น โอกาสจากระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ และการใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) – BRICS – MLC และอีกหลายข้อตกลงทางการค้า ทำให้รูปแบบการค้าและการขนส่งมีความหลากหลายยิ่งขึ้น สินค้าทั่วโลกเข้าสู่ครัวเรือนทั่วจีนด้วยราคาถูกขึ้น และสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ตจีน ทั้งข้าว เครื่องปรุงรส เครื่องสำอาง ยา หมอนยางพารา ครีมกันแดด ฯลฯ ในขณะเดียวกัน สินค้าของจีนก็สามารถเคลื่อนเข้าไปยังประเทศต่างๆได้ง่ายขึ้น

ปี 2566 มูลค่าการค้าของจีนกับกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) อยู่ที่ 8.06 ล้านล้านหยวน (ราว 39.09 ล้านล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบปีต่อปี สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (ASEAN) ยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในช่วง 7 เดือนแรก โดยมูลค่าการค้าของจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบปีต่อปี และคิดเป็นร้อยละ 15.3 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของจีน

สำหรับกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) หรือชื่อเดิม One Belt One Road” (OBOR) คือ“เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21” ที่ต้องการเรียกร้องให้โลกร่วมกันสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ ประกอบด้วยเส้นทางหลัก 2 เส้นคือ 1.Silk Road Economic Belt คือเส้นทางขนส่งทางบกที่เชื่อมจีนและยุโรปเข้าด้วยกัน ด้วยโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีนเข้าไปยังส่วนลึกของเอเชียกลาง เชื่อมสู่ตะวันออกกลาง ผ่านตลาดสำคัญอย่าง คาซัคสถาน อิหร่าน ข้ามไปยังตุรกีทะลุยุโรปผ่านเมืองสำคัญ เช่น แฟรงเฟิร์ต เวนิซ อัมสเตอร์ดัม และ 2.Maritime Silk Road คือเส้นทางขนส่งทางทะเล เริ่มจากเมืองท่าสำคัญของจีนอย่างเซี่ยงไฮ้ เทียนจิน ฟุโจว ลงมาทะเลจีนใต้ เชื่อมกลุ่มประเทศอาเซียน ข้ามช่องแคบมะละกาเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย ทะลุตะวันออกกลางไปสู่แอฟริกาตะวันตก ผ่านอ่าวเปอร์เซีย-คลองสุเอซ-ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยมีจุดหมายทางคือทวีปยุโรป

จีนระบุว่า หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ไม่ใช่ยุทธศาสตร์และไม่ใช่นโยบาย เป็นเพียงข้อริเริ่มที่แต่ละประเทศจะมาตกลงหารือเพื่อผลประโยชน์ที่จะได้ร่วมกัน (win-win cooperation) ภายใต้หลักการ 3 ประการ ได้แก่ 1) ร่วมกันหารือ 2) สร้างสรรค์ และ 3) แบ่งปัน โดยทุกอย่างไม่มีข้อกำหนดตายตัว สามารถยืดหยุ่นได้ผ่านการเจรจา ภารกิจหลักของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางคือการให้ความช่วยเหลือและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ การคมนาคม ฯลฯ ครอบคุมไปถึงเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ การแลกเปลี่ยนบุคลากร การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการต่อยอดความร่วมมือด้านอื่นๆ อีกมากมาย

ขณะเดียวกัน เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลจีนพยายามสนับสนุนให้ผู้ประกอบการออกไปลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอีวี คล้ายกับนักลงทุนญี่ปุ่นที่เคยทำมาในอดีต ด้านหนึ่งถือเป็นเรื่องดีเพราะเป็นการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศที่นักธุรกิจจีนเข้าไปลงทุน แต่ในอีกด้านกลายเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ต้องปรับตัวเชื่อมต่อกับซัพพลายเชนของจีนให้ได้ เพื่อหาช่องว่างทางโอกาสใหม่ๆ โดยไม่เพลี่ยงพล้ำต่อกระแสโลกการค้าเสรี

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts