วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 10, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมเวทีเสวนา กสม. พอใจการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานฯ ในรอบปี เสนอแนะสร้างความตระหนัก เสริมการมีส่วนร่วม เข้าเป็นภาคี OPCAT

Related Posts

เวทีเสวนา กสม. พอใจการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานฯ ในรอบปี เสนอแนะสร้างความตระหนัก เสริมการมีส่วนร่วม เข้าเป็นภาคี OPCAT

เวทีเสวนา กสม. พอใจการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานฯ แนะสร้างความตระหนัก เสริมการมีส่วนร่วม เข้าเป็นภาคี OPCAT – หารือ ตร. ยกระดับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นธาร ร่วมพัฒนาโรงพักต้นแบบไร้การทรมาน – ชี้ โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ละเมิดสิทธิชุมชน กระทบวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านและระบบนิเวศทางทะเล

วันที่ 1 มีนาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 8/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

  1. เวทีเสวนา กสม. พอใจการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานฯ ในรอบปี เสนอแนะสร้างความตระหนัก เสริมการมีส่วนร่วม เข้าเป็นภาคี OPCAT

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายและองค์กรภาคประชาสังคม ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมป้องกันการทรมาน (Association for the Prevention of Torture: APT) และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ณ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

ในเวทีดังกล่าว ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมการปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอได้ชี้แจงถึงการเตรียมความพร้อมและการดำเนินการเพื่อบังคับใช้กฎหมาย ทั้งด้านบุคลากร การออกกฎหมายลำดับรอง รวมถึงระเบียบที่จำเป็น การจัดหาอุปกรณ์และระบบ กลไกในการทำงาน โดยเฉพาะกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่สำหรับบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุมและสอบสวน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดซื้อเพิ่มอีก 40,000 ตัว โดยจะมีการส่งมอบในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เช่นเดียวกับทางดีเอสไอ และกรมการปกครองที่ได้จัดหากล้องให้เจ้าหน้าที่เช่นกัน นอกจากนี้กรมการปกครองยังได้เปิดศูนย์รับแจ้งเหตุ 878 อำเภอทั่วประเทศ ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุดก็ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่รับแจ้งเรื่องร้องเรียนครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง

พัฒนาการที่สำคัญประการหนึ่งจากกฎหมายฉบับนี้ คือ หากประชาชนผู้ใดพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดฐานทรมาน หรือบังคับให้สูญหาย สามารถแจ้งเหตุได้กับทั้งตำรวจ อัยการ ฝ่ายปกครอง และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งทำให้ประชาชนมีช่องทางในการเข้าถึงความยุติธรรมมากยิ่งขึ้น

การบังคับใช้กฎหมายในรอบปีที่ผ่านมา แม้มีอุปสรรคหรือข้อขัดข้องอยู่บ้าง แต่ก็มีความพยายามแก้ปัญหา และยกระดับการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด อย่างคดี “ลุงเปี๊ยก” ที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษก็จะขอให้ทางฝ่ายปกครองและอัยการเข้ามาร่วมสอบสวนด้วย ซึ่งขณะนี้ต้องถือว่าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมในการบังคับใช้และปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันการทรมานฯ มากขึ้น แต่การร้องเรียนยังมีค่อนข้างน้อย มีคดีที่ดำเนินการอยู่ไม่กี่คดี

สำหรับการเสวนาในประเด็นข้อท้าทายและความคาดหวังต่อผู้บังคับใช้กฎหมาย ผู้ร่วมเสวนาเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคน ถือเป็นการยกระดับกระบวนการยุติธรรมของไทยในหลายมิติ และไปไกลกว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งนอกจากจะยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชนจากการถูกกระทำทรมานและบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว ยังจะช่วยคุ้มครองและเป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต เมื่อถูกกล่าวหาหรือร้องเรียนเกี่ยวกับการตรวจค้น จับกุม และสอบสวนในคดีอาญาด้วย

ผู้ร่วมเสวนาพอใจที่มีกฎหมายฉบับนี้ออกมา และค่อนข้างพอใจกับการบังคับใช้กฎหมายในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยพบว่า การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องเหล่านี้ลดน้อยลง เจ้าหน้าที่ระมัดระวังตัวมากขึ้น ขณะที่นางสาวนริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ ผู้เสียหายจากกรณีพลทหารวิเชียร เผือกสม ถูกซ้อมทรมานในค่ายทหาร และเสียชีวิตในเวลาต่อมาเมื่อปี 2554 ได้สะท้อนประสบการณ์การเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ตายซึ่งเป็นน้าชาย ว่า เป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากถูกสกัดกั้นการเข้าถึงความยุติธรรม เจออิทธิพลของผู้มีอำนาจและความล่าช้าในการดำเนินคดี เป็นเหตุให้ต้องใช้เวลายาวนานถึง 12 ปี กว่าคดีจะถึงที่สุดและได้รับการเยียวยา เชื่อว่ากฎหมายป้องกันการทรมานฯ จะช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับเหยื่อที่ถูกกระทำทรมานและบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษที่เหมาะสมตามฐานความผิดที่กระทำ และย่นระยะเวลาในการดำเนินคดีได้ โดยหวังว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะมีความระมัดระวังในการใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี จะต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนผู้พบเห็นเหตุการณ์ในการร่วมกันเฝ้าระวังและแจ้งเหตุเมื่อพบเห็นการกระทำทรมานหรือบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย

ช่วงท้ายของการเสวนามีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นก้าวต่อไปกับการป้องกันการทรมาน โดยมีข้อเสนอแนะให้ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนักเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงขยายความร่วมมือให้กว้างขวาง ให้รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงศึกษาธิการ สื่อมวลชน บทบาทเยาวชน และสภาทนายความ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้รัฐบาลไทยเร่งเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to the Convention Against Torture: OPCAT) ที่กำหนดให้มีกลไกป้องกันระดับชาติ (National Preventive Mechanism: NPM) ทำหน้าที่ตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขัง และจัดทำข้อเสนอแนะให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการป้องกันมิให้มีการทรมานเกิดขึ้น

“ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 แม้จะพบปัญหาและข้อท้าทายในเชิงปฏิบัติที่จำเป็นต้องถอดบทเรียน แต่เป็นที่น่ายินดีที่หน่วยงานต่าง ๆ มีความตื่นตัวและความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายมากขึ้น ทั้งนี้ กสม. ขอสนับสนุนให้รัฐบาลเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสาร OPCAT ตามที่เคยให้คำมั่นต่อนานาชาติ โดย กสม. ได้เตรียมการและเตรียมความพร้อมในการเป็นกลไกป้องกันการทรมาน (NPM) ที่เป็นกลางและเป็นอิสระ เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นด้วยแล้ว” นายวสันต์กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts