นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้กำหนดเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นธารเป็นประเด็นสำคัญของงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2567 เนื่องจากการเข้าถึงความยุติธรรมเป็นประเด็นที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากจากประชาชน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กสม. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อให้ประชาชนที่พ้นโทษพ้นผิดได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข และการจัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบและเร่งรัดการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ถูกอายัดเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีที่ล่าช้าด้วย
อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to the Convention Against Torture: OPCAT) ซึ่งมีเนื้อหาหลักในการพัฒนาระบบการตรวจเยี่ยมสถานที่ลิดรอนเสรีภาพ (deprivation of liberty) ที่เข้าข่ายการเป็นสถานที่ควบคุมตัว ภายใต้การดำเนินงานหรือการกำกับของรัฐ เช่น สถานีตำรวจ โรงพัก ห้องขัง เรือนจำ สถานที่ควบคุมตัวของทหาร พื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยจากความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน สถาบันจิตเวช และสถานที่ดูแลกลุ่มเปราะบางหรือผู้ด้อยโอกาส และการจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (National Preventive Mechanism: NPM) เพื่อรองรับการตรวจเยี่ยมของคณะอนุกรรมการป้องกันการทรมานแห่งสหประชาชาติ (SPT) เพื่อนำเสนอข้อค้นพบ หรือข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาลและหน่วยรับการตรวจเยี่ยม นั้น กสม. เห็นความสำคัญในการประสานความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับ ตร. เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างและระบบการทำงานในกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นธารตั้งแต่ขั้นตอนการรับแจ้งความ การจับกุม การคุมขัง การออกหมายอาญา การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ และการเร่งรัดดำเนินคดี
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้บริหารสำนักงาน กสม. ได้เข้าพบ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.ต. ชัช สุกแก้วณรงค์ รองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (กมค.) และ พล.ต.ต. วิทยา เย็นจิตต์ ผู้บังคับการกองคดีอาญา ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันทบทวนการดำเนินงานสำคัญหลังจากที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 และการเตรียมความพร้อมการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (OPCAT) โดย ตร. เห็นพ้องกับสำนักงาน กสม. ในการจัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อจัดทำแผนพัฒนาสถานีตำรวจที่เน้นการสร้างมาตรฐานทั้งทางกายภาพและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจถึงแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ต้องหา หรือผู้ถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจ และเลือกสำรวจพื้นที่สถานีตำรวจจากทั้งหมด 1,484 แห่งทั่วประเทศ เพื่อค้นหา พัฒนา และยกระดับเป็น “โรงพักต้นแบบ” ตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ปราศจากการกระทำทรมานต่อไป