2 มีนาคม 2567 เลขาธิการ ส.ป.ก. ยันแนวเขตพื้นที่พิพาทบริเวณบ้านเหวปลากั้ง ต.หมูสี อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินแน่นอน โดย ส.ป.ก. ได้รับมอบพื้นที่มาตามกระบวนการจำแนกป่า จากนั้นมี พ.ร.ก.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2534 หาก ครม. มีนโนบายให้ ส.ป.ก. ส่งมอบพื้นที่พิพาทไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ จะต้องปรับปรุงกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ส.ป.ก. ออกแถลงการณ์เรื่อง กรณีพิพาทระหว่างแนวเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมากับแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เพื่อยืนยันว่า พื้นที่พิพาทบริเวณบ้านเหวปลากั้ง หมู่ที่ 10 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างแน่นอน โดยไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แต่อย่างใด
ในแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่ได้ปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้เข้ารื้อถอนหมุดหลักฐานซึ่งเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมบริเวณดังกล่าว อันอาจก่อให้เกิดเป็นประเด็นพิพาทในระหว่างส่วนราชการด้วยกันนั้น
ส.ป.ก. ยืนยันว่า ที่ดินในบริเวณพิพาทเป็นที่ดินที่ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมาตรา 26 (3) และมาตรา 36 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนินและอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2534
ทั้งนี้กรมแผนที่ทหารได้ตรวจสอบข้อมูล Field book ซึ่งเป็นการบันทึกการรังวัดขอบเขตของกรมอุทยานฯ เอง ตามมาตรฐานแผนที่และการรังวัดสากลแล้ว ยืนยันว่า พื้นที่ข้อพิพาทไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
สำหรับพื้นที่บริเวณดังกล่าว ส.ป.ก. ได้รับมาจากการนำที่ดินที่จำแนกออกจากป่าเขาใหญ่เฉพาะพื้นที่ที่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติและเขตป่าสงวน (พื้นที่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ตามพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศในราชกิจจานุบกษา เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2505) เนื้อที่ประมาณ 33,896 ไร่ ตามที่คณะรัฐนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2530 มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาที่ดินครั้งที่ 6/2527 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2527 ที่มีกรมป่าไม้ (ผู้รับผิดชอบงานอุทยานแห่งชาติในขณะนั้น) และ ส.ป.ก. ร่วมเป็นกรรมการ โดยได้สำรวจจนเป็นที่ยุติแล้วว่า พื้นที่ที่ส่งมอบให้ ส.ป.ก. ข้างต้นมีสภาพการใช้ประโยชน์โดยการประกอบเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 86.25 %
ดังนั้น ส.ป.ก. จึงมีอำนาจหน้าที่นำที่ดินเนื้อที่ประมาณ 33,896 ไร่ที่ได้รับมอบซึ่งที่ดินบริเวณพิพาทรวมอยู่ในส่วนนี้ด้วย มาจัดให้แก่เกษตรกรตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 โดยไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการทับซ้อนของแผนที่แสดงแนวเขตในบริเวณพื้นที่พิพาทระหว่าง ส.ป.ก. กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
หากคณะรัฐมนตรีมีนโยบายให้ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐตามโครงการ One Map เพื่อให้ที่ดินที่ ส.ป.ก. ได้รับมาในบริเวณพิพาทไปอยู่ในแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องปรับปรุงกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ รวมถึงช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้สุจริตซึ่งเสียสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจากผลกระทบดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนจากการดำเนินงานปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ 10 ข้อ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติต่อไป
เลขาธิการ ส.ป.ก. ระบุว่า ได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยยึดมั่นในหลักการว่า หากปรากฎข้อเท็จจริงใดๆ ว่า มีเจ้าหน้าที่ของ ส.ป.ก. รังวัดจัดที่ดินในพื้นที่ที่ยังมีสภาพป่า ย่อมเป็นกรณีที่ไม่ชอบด้วยระเบียบและข้อตกลงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องตรวจสอบ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตลอดจนย้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายด้วยแล้ว หากพบว่า เจ้าหน้าที่ของ ส.ป.ก. ผู้ใดได้กระทำความผิดหรือจัดที่ดินโตยฝ่าฝืนเจตนารมณ์แห่งกฎหมายหรือกระทำการใดๆ ที่ไม่ถูกต้องอันก่อให้เกิดความเสียหายกับการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ส.ป.ก. จะดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางวินัย ทางแพ่ง และทางอาญาให้ถึงที่สุด ในทางกลับกัน หากตรวจสอบแล้วพบว่า ส.ป.ก. จัดที่ดินที่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย ก็เป็นกรณีสมควรที่เกษตรกรจะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิกฎหมายและมีความชอบธรรมในการถือครองที่ดินของ ส.ป.ก. ต่อไป โดยไม่ควรที่จะมีหน่วยงานใดก็ตามรบกวนหรือรอนสิทธิของประชาชนเหล่านี้
พร้อมกันนี้ยืนยันว่า ส.ป.ก. จะยืนหยัดในการปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายทุกประการและจะตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของ ส.ป.ก. ที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบเพื่อพิสูจน์ทราบ หากพบการกระทำความผิด จะดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป