ป.ป.ช. เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา “ทองมี หรือ กฤตภาส โคตรสขึง หรือ โกสินทร์วิกรม” อดีตนายก อบต.นาสีนวน มุกดาหาร ตรวจรับงานจ้างเบิกจ่ายเงินในโครงการฝึกอบรมบุคลากรท้องถิ่นทัศนศึกษาดูงานนอกสถานที่ ปี 2555 ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 4 พิพากษาลงโทษ คุก 4 ปี 12 เดือน พวก อีก 6 รายโดนด้วยคนละหลายปี ไม่รอลงอาญา
เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา นายทองมี หรือ กฤตภาส โคตรสขึง หรือ โกสินทร์วิกรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาสีนวน อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร กับพวก 6 ราย คือ นางอัมพิกา โสดาภักดิ์ หรือ พลค้อ นายสันต์พจน์ เตียบน้อย นายทักษิณ บุญซำ นายสุระพล มีทรัพย์ นางอ้อยใจ ปาละวงศ์ และ นายกชพร ณ หนองคาย ตรวจรับงานจ้างและเบิกจ่ายเงินในโครงการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของบุคลากรท้องถิ่นและทัศนศึกษาดูงานนอกสถานที่ ประจำปี พ.ศ.2555
ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 และมาตรา 162 (1), (4) ประกอบมาตรา 86 พรป.ป.ป.ช.2542 มาตรา 123/1 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 มีคำพิพากษาว่า นายทองมี หรือ กฤตภาส โคตรสขึง หรือ โกสินทร์วิกรม จำเลยที่ 1 นางอัมพิกา โสดาภักดิ์ หรือ พลค้อ จำเลยที่ 2 นายสันต์พจน์ เตียบน้อย จำเลยที่ 3 นายทักษิณ บุญซำ จำเลยที่ 4 นายสุระพล มีทรัพย์ จำเลยที่ 5 นางอ้อยใจ ปาละวงศ์ จำเลยที่ 6 และ นายกชพร ณ หนองคาย จำเลยที่ 7 มีความผิดมาตรา 151 พรป.ป.ป.ช.2542 มาตรา 123/1
จำเลยที่ 1 – 6 ให้การรับสารภาพ ลงโทษดังนี้
- นายทองมีหรือกฤตภาส โคตรสขึงหรือโกสินทร์วิกรม จำเลยที่ 1 จำคุก 4 ปี 12 เดือน
- นางอัมพิกา โสดาภักดิ์หรือพลค้อ จำเลยที่ 2 จำคุก 4 ปี 22 เดือน
- นายสันต์พจน์ เตียบน้อย จำเลยที่ 3 จำคุก 24 เดือน
- นายทักษิณ บุญซำ จำเลยที่ 4 จำคุก 10 เดือน
- นายสุระพล มีทรัพย์ จำเลยที่ 5 จำคุก 4 ปี 12 เดือน
- นางอ้อยใจ ปาละวงศ์ จำเลยที่ 6 จำคุก 1 ปี 8 เดือน
- นายกชพร ณ หนองคาย จำเลยที่ 7 จำคุก 3 ปี 4 เดือน
กรณีมีพฤติการณ์ร้ายแรงไม่รอการลงโทษจำเลยทั้ง 7
ทั้งนี้ คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมด มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมลงมติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ