วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์สันติ ตั้งรพีพากร 陈俊泰ตะวันตกคิดไกล “จีนก็ใหญ่ตาม”จีนคิดอย่างไร “ใหญ่เท่าคิด”เพราะพลังแห่งผู้นำ “สืบทอดกันมา”

Related Posts

ตะวันตกคิดไกล “จีนก็ใหญ่ตาม”จีนคิดอย่างไร “ใหญ่เท่าคิด”เพราะพลังแห่งผู้นำ “สืบทอดกันมา”

“…เศรษฐกิจจีนที่พัฒนาเติบใหญ่มาอย่างต่อเนื่องในอัตราความเร็วสูงจนสามารถเรียกได้ว่าเป็น “สิ่งมหัศจรรย์” สุดที่นักวิเคราะห์ในซีกโลกตะวันตกจะคาดเดาได้ จึงได้แต่สรุปตามความเข้าใจของตัวเอง ซึ่งผิดมาโดยตลอด ตลอดเวลาร่วมสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนโดยเฉพาะประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้มุ่งยกระดับการผลิตขึ้นสู่ระดับ”คุณภาพสูง”พร้อมกับเปิดฉากขยายตลาดระดับโลกด้วยโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และเมื่อดำเนินนโยบายใช้ “พลังการผลิตคุณภาพใหม่” ขับเคลื่อน “แผนปฏิบัติการเอไอ+” ก็เท่ากับการเปิดประตูบานใหม่ให้แก่การก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวใหญ่ของจีน เช่นนี้แล้วจีนก็จะเดินหน้าไปสู่อนาคตชนิด“ไร้เพดาน” ตามระดับความรับรู้ของคณะผู้นำจีนที่จะรับช่วงกันไปเป็นทอดๆ ส่งให้จีนผงาดขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าของเศรษฐกิจโลก สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้แก่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมดั้งเดิมถ้วนหน้า กระแสเสียงจีนเป็น”ภัยคุกคาม”ก็ปรากฏเต็มหน้าสื่อชั้นนำในโลกตะวันตก พวกเขาคิดได้ไกลแค่ไหน จีนก็จะใหญ่ตามไปด้วยจนเป็นเรื่องธรรมดา….”

ใหญ่เท่าคิด 随想壮大

เมื่อวันที่ 27 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวกับกลุ่มผู้นำธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯว่า เศรษฐกิจจีนในอดีตไม่ได้พังลงตามทฤษฎี “จีนจะพัง”(崩溃论)ที่เผยแพร่กันทั่วไปและในปัจจุบันก็ไม่ได้ชนเพดาน(到顶论)ตามที่กำลังพูดกันอยู่

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

สิ่งที่ท่านพูดสะท้อนความจริงของเศรษฐกิจจีนที่พัฒนาเติบใหญ่มาอย่างต่อเนื่องในอัตราความเร็วสูงจนสามารถเรียกได้ว่าเป็น “สิ่งมหัศจรรย์” สุดที่นักวิเคราะห์ในซีกโลกตะวันตกจะคาดเดาได้ จึงได้แต่สรุปตามความเข้าใจของตัวเอง ซึ่งผิดมาโดยตลอด

วิธีการตีความเพื่อคาดการณ์เศรษฐกิจจีนของนักวิเคราะห์ทั่วไปมักจะอิงอยู่กับตัวเลขสถิติบางตัวแล้วขยายความเป็นปัญหาทั่วไป เช่นระยะสองสามปีหลังตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนจะวนเวียนอยู่ในระดับ 5% จึงนำไปสู่การวินิจฉัยว่า เศรษฐกิจจีนได้ก้าวเข้าสู่ระยะชะลอตัวแล้ว “ชนเพดาน” แล้ว ซึ่งตีความได้ว่า เศรษฐกิจจีนถึงจุดตันแล้ว ความเจริญรุ่งเรืองของจีนจะไม่เป็นไปตามแผนระยะยาวของจีนแล้วฯลฯ

และเมื่อเอาปัญหาที่กำลังมีอยู่ในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาโยงเข้าไป ก็มีแนวโน้มจะสรุปลงไปในร่องทฤษฎี “จีนจะพัง” อีกที วนเวียนไปมาเช่นนี้ จนในที่สุดประธานาธิบดีสีจิ้นผิงต้องทำความกระจ่าง อันแสดงถึงความจริงของเศรษฐกิจจีนที่มีแต่จะพัฒนาเติบใหญ่ไปเรื่อยๆ ตามแผนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วในทุกขั้นตอน

สรุปเป็นภาพที่เข้าใจง่ายๆก็คือ เศรษฐกิจจีนจะพัฒนาเติบใหญ่ไม่สิ้นสุดไปตามแนวคิดทฤษฎีและแนวทางนโยบาย ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนนำเสนอออกมาเป็นระยะๆ

หรือพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือจีนจะพัฒนาเติบใหญ่ไปตามที่พรรคฯคิด

แนวการพัฒนาของจีนตั้งแต่ยุค เหมา เจ๋อตง ล้วนแต่ดำเนินมาในลักษณะดังกล่าว ด้วยพวกเขามีหลักยึดพื้นฐานตรงที่ทุกอย่างเริ่มต้นจากการปฏิบัติที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในขั้นตอนหนึ่งๆของการพัฒนา โดยใช้เงื่อนไขที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เหมา เจ๋อตง

ยุค เหมา เจ๋อตง ได้ใช้เงื่อนไขของความเป็นส่วนหนึ่งของโลกสังคมนิยมรับการช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต วางรากฐานทางด้านอุตสาหกรรมหนัก ต่อมาเมื่อเปิดความสัมพันธ์กับสหรัฐฯก็ได้เปิดประเทศและเดินหน้าเชื่อมประสานตัวเองเข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์ ใช้ตลาดโลกกระตุ้นการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นสากล จนกระทั่งกลายเป็นโรงงานโลก สามารถดึงทุนโลกเข้าจีน ยกระดับการผลิตของจีนก้าวขึ้นสู่ระดับมาตรฐานโลก ด้วยอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดต่อเนื่องหลายทศวรรษ

และเมื่อการผลิตแบบปูพรมถึงจุดอิ่มตัว สินค้าจีนท่วมตลาดโลก จีนก็ทำการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตครั้งใหญ่ ขยายการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสูง กำหนดแผน “การผลิตอัจฉริยะ 2025” ลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลงมาอยู่ในระดับไม่เกิน 8%

การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งให้จีนผงาดขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าของเศรษฐกิจโลก สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้แก่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมดั้งเดิมถ้วนหน้า กระแสเสียงจีนเป็น “ภัยคุกคาม” (威胁论) ก็ปรากฏเต็มหน้าสื่อชั้นนำในโลกตะวันตก

ไม่เพียงเท่านั้น โลกตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ได้ใช้มาตรการแซงชั่นรูปแบบต่างๆ ต่อผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสูงของจีน ทั้งด้วยข้ออ้างทางด้านมนุษยชนและความมั่นคง ดังกรณีของหัวเหวย ควบคู่ไปกับการโหมข่าวจีนถึงทางตันเพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากโลกตะวันตก

จึงปรากฏว่า ตลอดเวลาร่วมสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนโดยเฉพาะประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางด้านการผลิตไปอีกระดับหนึ่ง นั่นคือมุ่งยกระดับการผลิตขึ้นสู่ระดับ “คุณภาพสูง” (高质量)พร้อมกับเปิดฉากขยายตลาดระดับโลกด้วยโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (一带一路)กระทั่งสามารถรองรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์อัจฉริยะของจีนทั้งรถยนต์ไฟฟ้า แผงโซล่าเซลล์และอื่นๆอีกมากที่มีระดับคุณภาพสูงแต่ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันของโลกตะวันตก

และเมื่อรัฐบาลจีนดำเนินนโยบายใช้ “พลังการผลิตคุณภาพใหม่” (新质生产力)ขับเคลื่อน”แผ่นปฏิบัติการเอไอ+”ก็เท่ากับการเปิดประตูบานใหม่ให้้แก่การก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวใหญ่ของจีน

เช่นนี้แล้วจีนก็จะเดินหน้าไปสู่อนาคตชนิด”ไร้เพดาน”ตามระดับความรับรู้ของคณะผู้นำจีนที่จะรับช่วงกันไปเป็นทอดๆ

พวกเขาคิดได้ไกลแค่ไหน จีนก็จะใหญ่ตามไปด้วยจนเป็นเรื่องธรรมดา

ไขคำจีน
随想 สุยเสี่ยง ตามคิด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts