เมื่อวันที่ 7 – 10 เมษายน 2567 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ได้เดินทางโรดโชว์การลงทุน ณ มณฑลกวางตุ้ง และมณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่าง เพื่อนำมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่อีวี ไปบุกดึงการลงทุนจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง อีกทั้งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ในการโรดโชว์ครั้งนี้ บีโอไอได้พบกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งล้วนเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ 10 อันดับแรกของโลก อาทิ บริษัท Contemporary Amperex Technology (CATL), China Aviation Lithium Battery (CALB), Inpow Battery Technology (IBT), Eve Energy, Gotion High-tech, Sunwoda และ SVOLT Energy Technology เพื่อนำเสนอศักยภาพด้านการลงทุนของประเทศไทย พร้อมทั้งสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนของรัฐ นอกจากนี้ ยังจะพบกับบริษัท XPeng Motor ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ ที่เพิ่งเปิดตัวในประเทศไทยในงานมอเตอร์โชว์ปีนี้ เพื่อหารือแผนการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระยะต่อไปด้วย
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ดอีวี ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็ได้มีมติเห็นชอบ “มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS)” ทำให้สมรภูมินี้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น
“มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์” มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของโลก เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย ทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและใช้ไทยเป็นฐานการส่งออก โดยได้กำหนดเงื่อนไขในการขอรับการส่งเสริม 4 ข้อ คือ
(1) ต้องเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำที่มีการใช้งานโดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
(2) ต้องเป็นการผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า แต่ทั้งนี้ สามารถผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงานในโครงการเดียวกันด้วยก็ได้
(3) ต้องผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่มีค่าพลังงานจำเพาะ ไม่น้อยกว่า 150 Wh/Kg
(4) ต้องมีจำนวนรอบการอัดประจุ (Life Cycle) ไม่น้อยกว่า 1,000 รอบ
ผู้ลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมจะได้รับสิทธิประโยชน์หลายด้าน เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 15 ปี ยกเว้นภาษีจากเงินปันผล ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก ลดหย่อนอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 90 ของอัตราปกติสำหรับวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา
นอกจากนี้ ยังจะได้รับเงินสนับสนุนจาก กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา หรือการพัฒนาบุคลากร สำหรับวิธีการให้สิทธิประโยชน์จะเป็นรูปแบบการเจรจาเป็นรายโครงการ โดยในการเจรจา คณะกรรมการจะคำนึงถึงแผนการลงทุน ขนาดกำลังการผลิต การเชื่อมโยงและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ระดับของเทคโนโลยี แผนการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี การจ้างงานและการพัฒนาบุคลากร และประเด็นอื่น ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และทำให้ไทยเป็น Hub การผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร