วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์วัชระ เพชรทองชาวประมงเดือดร้อนหนัก!

Related Posts

ชาวประมงเดือดร้อนหนัก!

“…ชาวประมงเล่าให้นายวัชระฟังว่า เรืออวนรุนขนาดเล็กที่ใช้อวนติดปุ่มในการจับสัตว์น้ำ ปากอวนติดปุ่มไม่ถึงหน้าดิน จะสูงจากหน้าดินประมาณ 4-12 นิ้ว ซึ่งไม่ทําลายหน้าดิน ไม่ทําลายระบบนิเวศน์ของธรรมชาติ ไม่ทําลายสัตว์น้ำที่อนุรักษ์ ชาวบ้านเคยหากินสุขสบายตามวิถีพื้นบ้าน ต่อมาเมื่อรัฐบาล ค.ส.ช. ได้เป็นรัฐบาล ได้ออกกฎหมายบังคับใช้อวนรุนที่ใช้อวนติดปุ่ม เรืออวนลากคู่ เรือปลากะตัก เป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย ห้ามทําการประมง โอด! รัฐบาล ค.ส.ช.ให้ชาวบ้านเปลี่ยนอาชีพ แต่การเปลี่ยนอาชีพต้องมีเงินทุนเงินทุนสํารอง ไม่ใช่ว่าบอกให้เปลี่ยน ก็จะเปลี่ยนกันง่ายๆ…”

วันที่ 15 เมษายน 2567 เวลา 10.00 น. นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์รับเรื่องร้องเรียนจาก นายประพันธ์ เจริญฤทธิ์ ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านกลุ่มอวนรุนขนาดเล็ก จ.สุราษฎร์ธานี และ นายอดุลย์ เครือรัตน์ นายก อบต. ลีเล็ด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ที่บนเรือประมงพื้นบ้านที่จอดลอยลำในคลองราง หมู่ที่ 2 บ้านคลองราง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานีเพื่อให้กรมประมงผ่อนผันให้ชาวประมงขนาดเล็ก ขนาด 10 ตันลงมาทำการประมงในฤดูเปิดอ่าว วันที่ 15 พฤษภาคมนี้ได้

ชาวบ้านเล่าให้ นายวัชระ ฟังว่า ความเดือดร้อนของกลุ่มประชาชนประมงพื้นบ้าน กลุ่มเรืออวนรุนขนาดเล็กที่ใช้ อวนติดปุ่ม ด้วยอาชีพอวนรุนที่ใช้อวนติดปุ่มและเรือรุนเคยขนาดเล็ก เป็นอาชีพประมงพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีอาชีพหนึ่งที่อยู่ติดชายทะเลของอ่าวบ้านดอน ซึ่งชาวบ้านส่วนหนึ่งประกอบอาชีพอวนรุนขนาดเล็ก หาเลี้ยงครองครัวทํามาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย กลุ่มชาวบ้านได้ใช้เรือขนาดเล็ก เช่น เรือหางยาว หรือเรือยนต์มีเครื่องวางท้อง น้ำหนักไม่เกิน 10 ตันกรอสลงมา ใช้อวนติดปุ่มเป็นอุปกรณ์ในการจับสัตว์น้ำ ซึ่งอาชีพเรืออวนรุนขนาดเล็กน่าจะเป็นอาชีพประมงพื้นบ้านที่ชาวบ้านใช้ทําเลี้ยงชีพมาก่อนอาชีพอื่นๆ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

เรืออวนรุนขนาดเล็กที่ใช้อวนติดปุ่มในการจับสัตว์น้ำ ปากอวนติดปุ่มไม่ถึงหน้าดิน จะสูงจากหน้าดินประมาณ 4-12 นิ้ว ซึ่งไม่ทําลายหน้าดิน ไม่ทําลายระบบนิเวศน์ของธรรมชาติ ไม่ทําลายสัตว์น้ำที่อนุรักษ์ กลุ่มชาวบ้านส่วนมากจะเป็นลูกหลานของชาวสุราษฎร์ธานี มาแต่กําเนิด มีจิตสํานึก รักและหวงแหนอ่าวบ้านดอน มีความภาคภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนสุราษฎร์ธานี อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ชาวบ้านเปิดเผยว่า ทรัพยากรมีความหลากหลายตามแต่พื้นที่ ตามแต่ฤดูกาล จะให้ทําประมงแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ เมื่อก่อนตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย จนถึงรัฐบาล ค.ส.ช. พ.ศ. 2558 ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทํามาหากินสุขสบายตามสภาพพื้นที่ อวนรุนที่ใช้อวนติดปุ่มเป็นอาชีพพื้นบ้านที่ถูกกฎหมายอาชีพหนึ่ง ชาวบ้านหากินอยู่ภายใต้กฎหมายที่กําหนด ต่อมาเมื่อรัฐบาล ค.ส.ช. ได้เป็นรัฐบาล ได้ออกกฎหมายบังคับใช้อวนรุนที่ใช้อวนติดปุ่ม เรืออวนลากคู่ เรือปลากะตัก เป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย ห้ามทําการประมง แต่ภายหลังกฎหมายไม่รู้เป็นแบบไหน อย่างไร เรืออวนลากคู่และเรือปลากะตักจึงได้กลับมาทําประมงเหมือนเดิม แต่ว่าเรืออวนรุนต้องถูกยกเลิกห้ามทําการประมง ห้ามมีเครื่องมือไว้ในครอบครอง ชาวประมงพื้นบ้านสุราษฎร์ธานีเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ไม่รู้จะพึ่งใคร พึ่งพาหน่วยงานใด

วันนี้ได้เปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้ว ประชาชนและกลุ่มเรืออวนรุ่นพื้นบ้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ใช้อวนติดปุ่ม ที่อยู่ติดชายทะเลได้ จึงปรึกษากันยื่นหนังสือถึง นายวัชระ เพชรทอง ให้ช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่น้ำหนักเรือไม่เกิน 10 ตันกรอส ให้ได้กลับมาเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายเหมือนเดิม

วันนี้กลุ่มเรือประมงพื้นบ้านอวนรุน ขนาดเล็กและเรืออวนรุนเคยเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาล ค.ส.ช. บังคับใช้กฎหมายโดยไม่คํานึงถึงพื้นที่ ทรัพยากรที่มีและธรรมชาติต่างๆ ทั้งที่รัฐบาลไม่มีอาชีพอื่นๆ ที่เหมาะสมชัดเจนมารองรับให้กลุ่มเรืออวนรุนขนาดเล็ก และหลังจากบังคับใช้กฎหมายห้ามทําประมง ห้ามใช้อวนติดปุ่ม รัฐบาล ค.ส.ช. ไม่เคยส่งเจ้าหน้าที่ลงมาตรวจสอบหาข้อเท็จจริงและดูว่ากลุ่มเรืออวนรุนขนาดเล็กจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประชาชนจะอยู่กันอย่างไร หลังจากไม่ได้ออกเรือไปทําประมง

อีกอย่างหนึ่ง การที่รัฐบาล ค.ส.ช. ให้ชาวบ้านเปลี่ยนอาชีพ แต่การเปลี่ยนอาชีพต้องมีเงินทุนเงินทุนสํารอง ไม่ใช่เปลี่ยนกันง่ายๆ อ่าวบ้านดอนพื้นที่บางอําเภอติดชายทะเล บางอําเภอเป็นอ่าว ติดป่าชายเลน ทรัพยากรมีหลากหลาย เรือประมงพื้นบ้านก็มีหลากหลาย ประชาชนทําประมงตามความถนัดของตนเอง ตามแต่พื้นที่ ตามแต่ฤดูกาล จะกําหนดให้ทําเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้และสัตว์น้ำส่วนมากที่จับขึ้นมาได้เป็นสัตว์น้ำที่มีอายุสั้น เช่น กุ้งเคย กุ้งแชร์บ๊วย ปลาก็มีหลากหลาย เช่น ปลาที่นําไปทําเป็นอาหารสัตว์ ส่วนหนึ่งชาวบ้านนําไปเป็นอาหารเลี้ยงปลากะพง เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เป็นต้น ไม่ได้จับสัตว์น้ำที่อนุรักษ์ เพราะทําประมงเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดจะเป็นการทําลายเสียมากกว่า ชาวบ้านต้องหากินหลากหลาย ชาวประมงจะอยู่กันได้แบบยั่งยืน

กลุ่มเรืออวนรุนขนาดเล็กที่ใช้อวนติดปุ่มจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนมากทําอาชีพเรืออวนรุนมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ไม่มีอาชีพอื่นมารองรับ แต่ละครอบครัวหาเช้ากินค่ำ มีภาระหนักที่ต้องดูแลครอบครัว ดูแลพ่อแม่ ต้องกู้หนี้ยืมสิน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ บางครั้งมีหนี้นอกระบบ

เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน กลุ่มเรืออวนรุนขนาดเล็กจึงได้ปรึกษาหารือกัน เขียนหนังสือถึง นายวัชระ เพชรทอง ให้ช่วยชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ทําอวนรุนขนาดเล็กไม่เกิน 10 ตันกรอส ได้กลับมาเป็นประมง พื้นบ้านที่ถูกกฎหมายเหมือนเดิม

จากนั้น นายวัชระ จึงได้โทรศัพท์ประสานงาน นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือเร่งแก้ไขปัญหาต่อหน้าชาวประมงทันที โดย นายประยูร รับปากกับนายวัชระว่าจะเร่งดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านโดยเร็ว สร้างความดีใจให้กับชาวบ้านที่ได้ร่วมรับฟังการเจรจาเป็นอย่างมาก

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts