“….นัยว่า ทั้งหลายทั้งปวงของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็เพราะบอร์ด กสทช.ส่วนหนึ่ง (จำนวน 3 ราย) เป็นผลผลิตหรือ “ร่างทรง” ที่มาจาก “ป่ารอยต่อ” เส้นทางเดียวกับกรรมการ ป.ป.ช.อื้อฉาวในเวลานี้นั่นเอง จึงทำทุกอย่าง ตัดสินใจทุกเรื่องเป็นไปในแนวทางเดียวกันทุกกระเบียดนิ้ว ไม่มีแตกแถว โหวตทุกเรื่องเหมือนกันเป๊ะๆๆๆ ราวกับรับโพยมาจากที่เดียวกันยังไงยังงั้น โดยหากพิจารณาภูมิหลังการเข้าสู่ตำแหน่งตั้งแต่กระบวนการสรรหาไปจนถึงได้รับเสียงโหวตมาจากที่ประชุมวุฒิสภาของ กสทช.แต่ละคนจะเห็นได้ว่า ได้รับการสรรหาเข้ามาเป็นกรรมการ กสทช.ชนิด “ผิดฝั่ง ผิดฝา” อย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้หลายฝ่ายไม่แปลกใจเหตุใดบรรดาเรื่องอื้อฉาว หรือเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของประธาน กสทช.และรักษาการเลขาธิการ กสทช.ที่ถูกร้องไปยัง ป.ป.ช.นับสิบคดี “หายเข้ากลีบเมฆ” ไม่เคยมีเรื่องใดที่ ป.ป.ช.จะหยิบงยกขึ้นมาดำเนินการไต่สวน เพราะมีสาแหรกมาจากป่าเดียวกันนี่เอง …”
กสทช.สายป่ารอยต่อ…ร่างทรงของใคร ?
ระอุแดดยิ่งกว่าปรอทแตกในห้วงเวลานี้ เห็นทีจะหนีไม่พ้นเรื่องของ “บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล” อดีตรอง ผบ.ตร.ที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไปวันวานที่กำลังเปิดศึกรอบทิศ ลุย “ฟัดแหลกแหกสัปะหยด” ยิ่งกว่าสุนัขจนตรอก !
ไหนจะลุยฟ้องดะคณะพนักงานสอบสวน สน.เตาปูนยกชุด ต่อศาลอาญาทุจริต กรณีดำเนินการสอบสวนคดีพนันออนไลน์ทั้งที่ไม่มีอำนาจ ไหนจะยื่นเรื่องร้อง “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจากกรณีเสนอ กตร.แต่งตั้ง “บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล” เป็นผบ.ตร. ทั้งที่เป็นแคนดิเดทที่มีอาวุโสต่ำสุดในบรรดารอง ผบ.ตร.และจเรตำรวจ
ไหนจะร้องสอบนายกฯ จากกรณีมีคำสั่งย้าย “บิ๊กโจ๊ก” มาประจำสำนักนายกฯ เพื่อเปิดทางให้มีการสอบสวนกรณีพัวพันเว็บพนันออนไลน์ แต่ยังไม่ทันที่คณะกรรมการสอบสวนที่นายกฯ ตั้งขึ้นจะเดินเครื่องสอบ ก็กลับมีคำสั่งให้ส่งตัวกลับ สตช.เปิดทางให้รักษาการ ผบ.ตร.มีคำสั่งให้บิ๊กโจ๊กออกจากราชการในวันเดียวกัน
ล่าสุดเจ้าตัวยังลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวร้องคัดค้านการทำหน้าที่ของกรรมการป.ป.ช.รายหนึ่งที่เจ้าตัวระบุว่าอาศัยใบบุญประธานมูลนิธิป่ารอยต่อ (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ไต่เต้าขึ้นมาเป็นกรรมการ ป.ป.ช.โดยมีการแจกแจง “ไทม์ไลน์” เส้นทางการเข้าหาศูนย์อำนาจป่ารอยต่อละเอียดยิบ ชนิดที่มองเห็นภาพ 4D กันเลยทีเดียว!
เรื่องงามไส้ถูก “ถลกหนังหัว” กันซะขนาดนี้ หากเป็นต่างประเทศ คงได้แทรกแผ่นดินหนี หรือไม่ก็ยื่นใบลาออกแสดงสปิริตกันไปแล้ว เพราะผู้ร้องไม่ใช่ “ไก่กา” ไร้ตัวตนซะที่ไหน แต่เป็นถึงอดีตรอง ผบ.ตร.ที่เปิดหน้าชนตัวเป็นๆ แบบนี้
แต่สำหรับ กรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ ที่ผู้คนเขาสัพยอก “อย่างหนายิ่งกว่าตราช้าง” แล้ว ทุกฝ่ายมั่นใจกล้าเดิมพัน 100 เอาบาทเดียวว่า ยังไงก็ไม่คิดจะลาออกแน่ เพราะเรื่องใหญ่กว่านี้เคยถูกแฉโพยมาหมดแล้ว แค่เรื่องร้องเรียนสิวๆ แค่นี้ไม่มีระคายผิวอันสง่างามขององค์กรนี้ได้แน่ !!!
จาก ป.ป.ช.ป่ารอยต่อถึง กสทช.
การออกมาสาวไส้กรรมการ ป.ป.ช.ของ “บิ๊กโจ๊ก” ข้างต้น ทำให้หลายฝ่ายนึกเลยไปถึง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ กสทช.ที่เพิ่งจะเปิดแชมเปญฉลองครบ 2 ปีของการทำงานไปเมื่อวันที้ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา
เป็น 2 ปีที่มีแต่เรื่องอื้อฉาวเต็มไปด้วยปมขัดแย้งคละคลุ้งองค์กร ทั้งความขัดแย้งระหว่างประธาน กสทช. กับ กสทช.ด้วยกัน ความขัดแย้งระหว่างรักษาการเลขาธิการ กสทช. กับ กสทช.เสียงส่วนใหญ่ ความขัดแย้งในการลงมติในเรื่องต่างๆ ที่มีจุดยืนกันคนละขั้ว จนทำให้การทำงานขององค์กร กสทช.ถูกผู้คนในสังคมสัพยอก “มีก็เหมือนไม่มี” มาโดยตลอด
ทั้งที่ในอดีต กสทช.ได้ชื่อว่า เป็นองค์กรที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นมาได้ สามารถผลักดันการพัฒนากิจการกระจายเสียง โทรทัศน์และโดยเฉพาะกิจการโทรคมนาคมให้เป็นปัจจัยหลักของการขับเคลื่อนและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในชั้นแถวหน้าได้จนวันนี้
ยิ่งในสมัยที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการนั้น ทุกฝ่ายต่างให้การยอมรับว่า บทบาทของนายฐากรแทบจะเป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กร กสทช.“ที่แท้ทรู” เสียด้วยซ้ำ ทั้งการผลักดันการประมูลคลื่น 3G 4G และ 5G การแก้ไขปัญหาการขาดทุนของทีวีดิจิทัล ให้ผู้ประกอบการคืนใบอนุญาต ก่อนที่เจ้าตัวจะยื่นใบลาออกจากตำแหน่งก่อนเกษียณเมื่อกลางปี 2563
ที่จริงเจ้าตัวก็หวังจะก้าวขึ้นไปทำหน้าที่ กสทช.นั่นแหละ แต่เพราะเส้นสายคงไปไม่ถึง ”ป่ารอยต่อ” แบบกรรมการ ป.ป.ช.ท่านนั้นหรือไม่ ก็คงไป “หลงป่า” เพราะไม่ได้สนิทชิดเชื้อกับ “บิ๊กโจ๊ก” มาก่อน เลยไม่มีโอกาสเข้าไปรับใช้บ้านป่ารอยต่อ จึงชวดตำแหน่ง กสทช.ชุดนี้ไป
ส่วน กสทช.ชุดนี้ที่เข้ามาทำหน้าที่ตั้งแต่ 20 เมษายน 2565 เป็นต้นมานั้น ในช่วงแรกได้รับการสรรหาและโหวตจากวุฒิสภาให้เข้ามาทำหน้าที่ชุดแรกจำนวน 5 คน ประกอบด้วย ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค, นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช.ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน, ศ.เกียรติคุณ ดร .พิรงรอง รามสูต กสทช. ด้านโทรทัศน์, พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. ด้านวิทยุกระจายเสียง และ รศ.ดร.ศุภภัช ศุภชลาศัย กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์
ก่อนที่อีก 2 กสทช. คือ พล.ต.อ. ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. ด้านกฎหมาย และ รศ.ดร. สมภพ ภูวิริกัยพงศ์ กสทช. ด้านโทรคมนาคม จะเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2565 และมีนาคม 2566 ตามลำดับ
เค้าลางของความขัดแย้งในองค์กร กสทช.ก่อกำเนิดขึ้นจากกรณีดีลควบรวมกิจการสื่อสารโทรคมนาคมสุดบิ๊กบึ้มของประเทศ ระหว่าง บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บมจ.โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ดีแทค เมื่อ กสทช.ที่ขณะนั้นมีเพียง 5 คน มีมติสุดพิสดาร “รับทราบ” รายงานการควบรวมกิจการ โดยอ้างไม่มีอำนาจพิจารณา และไม่ได้เข้าไปตรวจสอบหรือพิจารณาว่า ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศอย่างไรบ้าง
ทั้งที่ กสทช.ตั้งอนุกรรมการศึกษากรณีการควบรวมกิจการมาไม่รู้กี่สิบชุด มีการว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระทั้งในและต่างประเทศจัดทำรายงานผลกระทบ จัดเวทีประชาพิจารณาอะไรต่อมิอะไรผลาญงบกันเป็น 100 ล้าน แต่ก็กลับโยนรายงานผลการศึกษาเหล่านั้นลงถังขยะ ไม่ได้นำมาพิจารณาแม้แต่น้อย
มติบอร์ด กสทช.ที่ออกมาจึงทำให้ กสทช.แตกดังโพล๊ะ แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายชัดเจน ก่อนที่ปมขัดแย้งจะลุกลามบานปลายไปยังกรณีอื่น ๆ ตามมาอีกเป็นกุรุด ทั้งกรณีการปลดรักษาการเลขาธิการ กสทช. การสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ ฯลฯ ที่ก่อให้เกิดการฟ้องร้องอิรุงตุงนังต่อเนื่องมาตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
นัยว่าทั้งหลายทั้งปวงของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็เพราะ บอร์ด กสทช.ส่วนหนึ่ง (จำนวน 3 ราย) เป็นผลผลิตหรือ “ร่างทรง” ที่มาจาก “ป่ารอยต่อ” เส้นทางเดียวกับกรรมการ ป.ป.ช. ที่กำลังอื้อฉาวในเวลานี้นั่นเอง จึงทำทุกอย่าง ตัดสินใจทุกเรื่องเป็นไปในแนวทางเดียวกันทุกกระเบียดนิ้ว ไม่มีแตกแถว โหวตทุกเรื่องเหมือนกันเป๊ะๆๆๆ ราวกับรับโพยมาจากที่เดียวกันยังไงยังงั้น
โดยหากพิจารณาภูมิหลังการเข้าสู่ตำแหน่งตั้งแต่กระบวนการสรรหาไปจนถึงได้รับเสียงโหวตมาจากที่ประชุมวุฒิสภาของ กสทช.แต่ละคนจะเห็นได้ว่า ได้รับการสรรหาเข้ามาเป็นกรรมการ กสทช.ชนิด “ผิดฝั่ง ผิดฝา”อย่างเห็นได้ชัด
อย่าง “หมอไห่ -ศ.คลินิก นพ.สรณ” คุณหมอโรคหัวใจแห่ง รพ.รามาธิบดี ที่ไม่เคยมีชื่อว่าเคยทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคใดๆ มาก่อนเลย แต่กลับได้รับการสรรหาเข้ามาในสายคุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่บรรดาผู้สมัครเข้ารับการสรรหาด้านนี้ที่ล้วนปรากฎอยู่หน้าสื่อเป็นกุรุดกลับถูกเขี่ยตกรอบไปหมด
เช่นเดียวกับ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ และ พล.ต.อ. ณัฐธร เพราะสุนทร ที่มีการย้ายสายงานที่เคยสมัครเข้ารับการสรรหาก่อนจะได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้ามานั้น ก็พบว่าล้วนแล้วแต่โยงใยไปยังผู้มากบารมีแห่ง “ป่ารอยต่อ” ทั้งสิ้น จึงทำให้ กสทช.ทั้ง 3 รายนี้ทำอะไรก็แทบจะพิมพ์เดียวกัน
ขณะที่ กสทช.เสียงส่วนใหญ่อีก 4 ราย ที่ประกอบด้วย ศ.ดร.พิรงรอง อดีตอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ , รศ.ดร. ศุภัช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร. สมภพ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร รวมทั้ง พล.อ.ท. ธนพันธุ์ อดีตรองเลขาธิการ กสทช. ทั้ง 4 กสทช.นี้เป็นเลือดใหม่ที่ “แตกแถว” ไม่ได้มาจากสายการเมืองหรือกลุ่มทุนทางการเมืองโดยตรง จึงมีจุดยืนของตัวเองที่ต้องการให้ กสทช. เป็นองค์กรอิสระไม่ถูกครอบงำจากอิทธิพลภายนอก
เมื่อที่มาที่ไปของ กสทช.ส่วนหนึ่งนั้นมาจากร่างทรงกลุ่มทุนทางการเมือง ขณะที่อีกฝ่ายเป็นพวกแตกแถวไม่รับอิทธิพลจากกลุ่มใด จึงทำให้การประชุม กสทช.แต่ละนัด ต่างฝ่ายต่างงัดข้อกันชนิดแหลกไปข้าง บอร์ด กสทช.เสียงส่วนใหญ่ 4 คนมีมติไปในทางเดียวกันหลายเรื่อง ที่สวนทางกับมติของ กสทช.สายป่ารอยต่ออย่างเห็นได้ชัด
ไล่ดะมาตั้งแต่กรณีดีลควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” มาจนถึงกรณีการมีมติให้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช.หยุดทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. และตั้งกรรมการสอบสวนกรณีนำเงิน 600 ล้านบาทของ กสทช.ไปสนับสนุนการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 ขัดหลักเกณฑ์และระเบียบ กสทช.การคัดค้านกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ รวมทั้งการคว่ำผลการสรรหาว่าที่เลขาธิการ กสทช.จนนำมาซึ่งการฟ้องร้องอิรุงตุงนังอีกหลายสิบคดี
ล่าสุดที่ระเบิดขึ้นมาก็คือ โครงการเทเลเฮลท์ ที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับ กสทช.ที่ ขอใช้งบกองทุน กทปส.หรือกองทุน USO ร่วม 3,800 ล้านบาท ซึ่งก็ปรากฏว่า กสทช. เสียงส่วนใหญ่ ทั้ง 4 ราย คัดค้านอย่างหนักเพราะเห็นว่า เงินส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านไอที ที่ขัดกับวัตถุประสงค์ของ USO ที่เป็นเรื่องบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ทั้งยังตั้งข้อกังขาถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ที่มาจากประธาน กสทช.ด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นผลพวงจากการที่ กสทช.เสียงข้างน้อยมีที่มาที่ไปจากป่ารอยต่อ สายเดียวกับ ป.ป.ช.นี่เอง จึงทำให้หลายฝ่ายไม่แปลกใจ เหตุใดบรรดาเรื่องอื้อฉาว หรือเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของประธาน กสทช.และรักษาการเลขาธิการ กสทช.ที่ถูกร้องไปยัง ป.ป.ช.นับสิบคดี “หายเข้ากลีบเมฆ” ไม่เคยมีเรื่องใดที่ ป.ป.ช.จะหยิบยกขึ้นมาดำเนินการไต่สวน
เพราะมีสาแหรกมาจากป่าเดียวกันนี่เอง!!!
#สืบจากข่าว รายงาน