วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีนดุลการค้าไทย-จีน แก้อย่างไรให้เห็นผล?

Related Posts

ดุลการค้าไทย-จีน แก้อย่างไรให้เห็นผล?

สมาคมสื่อมวลชนไทย – จีน ร่วมกับ คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้จัดการเสวนาเรื่อง “ไทยขาดดุลการค้าจีนล้านล้านบาท  แก้อย่างไรให้เห็นผล” เมื่อช่วงบ่ายวันพุธที่ 24 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณบดี คณะวิทยาการจัดการ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มรภ.พระนคร ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมศึกษาถึงประเด็นปัญหาการค้าไทย-จีน ที่ประเทศไทยมีแนวโน้มเสียดุลการค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาทในปี 2567  และร่วมแสวงหาข้อเสนอแนะต่อภาครัฐบาลเพื่อเร่งหาทางแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

การเสวนาครั้งนี้ ผศ.ดร.จุฑาทิพย์  พหลภาคย์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มรภ.พระนคร เป็นผู้กล่าวเปิดการเสวนา  โดยมีวิทยากรที่ให้เกียรติเข้าร่วมประกอบด้วย นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล  ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน  นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล  นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์  ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน  และรองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ผศ.กัลยา นาคลังกา  ประธานหลักสูตรเศรษฐศาสตร์  และนายอนพัทย์ พัฒนวงศ์วรัณ  อาจารย์หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ  มรภ.พระนคร  ดำเนินรายการโดย นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมสื่อมวลชนไทย-จีน 

การเสวนาเปิดฉากสะท้อนภาพรวมการค้าระหว่างไทยกับจีน วิถีแห่งความเป็นบ้านพี่เมืองน้อง โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบจากจีน เพื่อมาประกอบสินค้าในเมืองไทยแล้วส่งไปขายในประเทศต่างๆทั่วโลก บริบทดังกล่าวอาจมองได้ว่าแม้ไทยจะขาดดุลการค้ากับจีน แต่สามารถนำการได้ดุลการค้ากับประเทศต่างๆที่เราประดิษฐ์สินค่าส่งไปขายทั่วโลกมาหักกลบลบหนี้กันได้ไหม  หรือมีความเป็นไปได้แค่ไหนที่เราจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีนให้มากขึ้น นอกเหนือจากทุเรียน เพราะคนจีนนิยมชมชอบผลไม้และอาหารไทยอยู่แล้ว เช่น การผลิตนำพริกขายให้คนจีน ถ้าคนจีนชอบกิน แค่มณฑลเดียวก็เหมือนขายให้กับคนไทยทั้งประเทศ

ขณะที่ภาครัฐจะต้องเข้มงวดในเรื่องของกฎระเบียบการค้าให้มากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะการปล่อยให้นอมินีหรือตัวแทนเปิดบริษัทบังหน้า ซึ่งในด้านกฎหมายการลงทุนนั้นมีความชัดเจนด้านสัดส่วนการถือหุ้นอยู่แล้วว่า ถ้าต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทยที่ไม่ได้ผ่านการลงทุนตาม พรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จะถือหุ้นได้แค่ 49 เปอร์เซ็นต์ และมีคนไทยถือหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าเราเข้มงวดเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ปล่อยปละเลยให้เกิดนอมินีหรือผู้ถือหุ้นแทนได้ ตรงนี้จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากรายได้ทางธุรกิจจะหมุนเวียนอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าคนจีนจะเข้ามาลงทุนมากแค่ไหน คนไทยก็ไม่เสียเปรียบ เพราะถือหุ้นใหญ่  51 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่ผ่านมามีบริษัทจำนวนมากใช้คนไทยเป็นนอมินีถือหุ้นแทน แต่ผู้ประกอบการตัวจริงเป็นคนจีน ตรงนี้ต้องโทษความหละหลวมของเจ้าหน้าที่บ้านเรา ที่ไม่ทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ตามเจตนารมณ์

หรือในด้านการนำเข้าสินค้าจากจีน เป็นไปได้หรือไม่ที่เราอาจต้องมีข้อกำหนดว่าห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรบางชนิดในช่วงที่ผลผลิตของไทยกำลังออกสู่ตลาด เหมือนบางประเทศในอาเซียนที่เขามีข้อระบุเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เพื่อปกป้องเกษตรกรภายในประเทศ

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดอย่างชัดเจน การขาดดุลการค้าของไทยต่อจีน คงไม่สามารถโทษได้ว่าใครผิดหรือถูก แต่ต้องพิจารณาในรายละเอียดต่างๆ ค้นหาต้นตอของปัญหาแล้วแก้ไขจากตรงนั้น ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้มีบทสรุปว่า ถ้าเราใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด มีนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่รัดกุมมากกว่านี้ ไทยคงไม่ขาดดุลการค้าให้จีนอย่างมากมายขนาดนี้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts