วันที่ 26 เมษายน 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายบุญเกื้อ สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 14/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
- กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีโครงการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง จ. ภูเก็ต หวั่นส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชน
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้ง เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ระบุว่า สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต (ผู้ถูกร้อง) จะดำเนินโครงการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง (ท่าเล) จังหวัดภูเก็ต ผู้ร้องเห็นว่าบริเวณดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นร่องน้ำเดิม แต่เป็นป่าชายเลนที่ชุมชนได้ร่วมกันอนุรักษ์ หากขุดลอกร่องน้ำอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตชุมชน เนื่องจากชายฝั่งทะเลบ้านอ่าวกุ้งมีสภาพค่อนข้างตื้นและล้อมรอบด้วยป่าชายเลน มีปลาชุกชุม รวมทั้งเป็นแหล่งที่พบปะการังน้ำตื้น โดยเฉพาะกัลปังหาสีแดงซึ่งพบเป็นแหล่งสุดท้าย การขุดลอกร่องน้ำจึงอาจเป็นการทำลายระบบนิเวศ ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล นอกจากนี้ในพื้นที่ดังกล่าวมีท่าเรือและร่องน้ำเดิมที่เรือสัญจรเข้าออกได้และเพียงพอต่อจำนวนเรือของชาวประมงพื้นบ้าน ผู้ถูกร้องไม่ได้ศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน และโครงการอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือของเอกชน จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ให้การรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสามารถเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน ในกรณีที่รัฐจะดำเนินการใดหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการอาจมีผลกระทบต่อประชาชน ชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม รัฐต้องจัดให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ได้รับรองสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดและการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืน
จากการตรวจสอบ พบว่า อ่าวกุ้ง (ท่าเล) อยู่ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2560 ซึ่งมีข้อกำหนดว่า พื้นที่ทะเลรอบเกาะภูเก็ตและรอบเกาะบริวารต่าง ๆ ห้ามดำเนินกิจกรรมการขุดลอกร่องน้ำ เว้นแต่เป็นการบำรุงรักษาทางน้ำหรือการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ และห้ามกระทำด้วยประการใดที่อาจเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบต่อปะการัง ซากปะการัง หินปะการัง กัลปังหา หรือหญ้าทะเล และห้ามเปลี่ยนสภาพธรรมชาติของป่าชายเลน เว้นแต่ได้รับอนุญาต และต้องได้รับความเห็นจากคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต ก่อนดำเนินการ
กสม. เห็นว่า การดำเนินโครงการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ผู้ถูกร้อง ไม่ได้เสนอโครงการเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขุดลอกร่องน้ำ แม้จะมีองค์ประกอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางส่วนร่วมเป็นกรรมการและได้สอบถามความเห็นแล้ว แต่การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ และไม่ครอบคลุมการพิจารณาในมิติของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่มีความสำคัญตามลักษณะความพิเศษของพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม จึงไม่สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 57 และมาตรา 58 ในการศึกษาและประเมินผลกระทบอย่างเหมาะสม รวมทั้งการพิจารณาอย่างรอบด้าน รัดกุม เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ส่วนประเด็นความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ พบว่า พื้นที่โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญของเอกชนบางส่วนทับซ้อนกับพื้นที่ป่าชายเลน และยังมีข้อพิพาทเรื่องลำรางและทางสาธารณะกับชาวบ้าน สอดคล้องกับข้อสังเกตของศาลจังหวัดภูเก็ต ตามคดีหมายเลขแดงที่ อ 833/2565 ว่า การนำชี้แผนที่พิพาทไม่ตรงกับจำนวนเนื้อที่ในเอกสารสิทธิที่ดินของเจ้าของโครงการท่าเทียบเรือสำราญ อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่พบการลักลอบตัดต้นไม้ชายเลน ซึ่งอยู่ในแนวที่จะขุดลอกร่องน้ำ แม้ปัจจุบันผู้ถูกร้องจะยังไม่ได้รับเรื่องเพื่อขอให้ออกใบอนุญาตขุดลอกร่องน้ำจากหน่วยงานใด และกรมเจ้าท่ายังไม่ได้จัดทำคำของบประมาณการขุดลอกร่องน้ำอ่าวกุ้ง แต่จากข้อเท็จจริงข้างต้น หากมีการขุดลอกร่องน้ำสาธารณะอ่าวกุ้ง ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งความไม่ชัดเจนของพื้นที่ และผลกระทบในอนาคตต่อพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ของชุมชน อันอาจนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สำหรับประเด็นว่าพื้นที่ดำเนินโครงการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง มีสภาพเป็นร่องน้ำที่มีอยู่เดิมเพื่อการเดินเรือหรือไม่ ยังคงมีข้อถกเถียงจากการตีความภาพถ่ายทางอากาศ โดยกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้งได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการเพื่อศึกษาข้อกฎหมายฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต เป็นคดีต่อศาลปกครองภูเก็ต เพื่อขอให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการดังกล่าวที่เห็นว่า ร่องน้ำอ่าวกุ้ง (ท่าเล) มีสภาพเป็นร่องน้ำเดิม และเห็นชอบให้ขุดลอกร่องน้ำอ่าวกุ้ง (ท่าเล) ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้อง จึงสอดคล้องตามมาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติให้ กสม. สั่งยุติเรื่อง หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลแล้ว จึงเห็นควรยุติเรื่องในประเด็นนี้
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 จึงมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1) ให้กรมเจ้าท่าพิจารณาทบทวนโครงการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง เนื่องจากเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่จะมีผลกระทบต่อพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน
2) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกำชับหน่วยงานในพื้นที่ กรณีที่จะดำเนินโครงการหรือกิจกรรมในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ชุ่มน้ำ ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2560 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 เรื่องการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ อย่างเคร่งครัดต่อไป
3) ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนบริเวณที่จะดำเนินโครงการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง โดยให้ชุมชนชายฝั่งมีส่วนร่วม นอกจากนี้ให้ร่วมกับสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต สาขาถลาง ตรวจสอบแนวเขตป่าชายเลนบริเวณอ่าวกุ้ง เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่าพื้นที่ป่าชายเลนบางส่วนและทางสาธารณะอาจทับซ้อนกับที่ดินของเอกชน
4) ให้คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ กำหนดกลไกการตรวจสอบและกลั่นกรองการดำเนินโครงการในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งที่มีลักษณะอาจส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยอาจให้คณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด ทำหน้าที่ในการกลั่นกรองโครงการเบื้องต้นเพื่อให้ความเห็นหรือคำแนะนำต่อผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนตัดสินใจดำเนินโครงการ