การผ่านร่างกฎหมายย่อย 4 ฉบับ ของสภาล่างของสหรัฐฯเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2567 สร้างความไม่พอใจต่อรัฐบาลปักกิ่งเป็นอย่างยิ่ง
เนื่องจากกฎหมายดังกล่าว ระบุให้ความช่วยเหลือทางทหารแบบให้เปล่าแก่ไต้หวันและหลายประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมมูลค่ากว่า 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อ “ต่อต้านจีน” ทั้งการนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเรือดำน้ำ การลงทุนก่อสร้างอู่แห้ง การจัดหาอุปกรณ์ด้านกลาโหม รวมถึงการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่สมรรถนะทางทหารของสหรัฐฯในภูมิภาคนี้
เฉิน ปินหัว (Chen Binhua) โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันแห่งคณะรัฐมนตรี (Taiwan Affairs Office of the State Council) ของจีน กล่าวแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (22 เม.ย.) ว่า สหรัฐฯกำลังแทรกแซงอย่างร้ายแรงในกิจการภายในของจีน ล่วงละเมิดอย่างร้ายแรงต่อหลักการจีนเดียว และข้อกำหนดต่างๆ ของแถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐฯทั้ง 3 ฉบับ
เซี่ย เฟิง (Xie Feng) เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ ก็ได้กล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการประชุมว่าด้วยจีนประจำปี 2024 ของ วิทยาลัยรัฐกิจ จอห์น เอฟ. เคนเนดี แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard Kennedy School) เตือนสหรัฐฯว่า จะต้องเผชิญกับผลพ่วงต่อเนื่องของการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของจีน และการสร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์ของจีนในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน, ฮ่องกง, ซินเจียง, ซีจ้าง (ทิเบต), และทะเลจีนใต้
เซี่ย เฟิง กล่าวว่า การนำเอายุทธวิธีก้าวข้ามเส้นสีแดงห้ามล่วงละเมิด (red lines) ในประเด็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์แกนกลางของคนอื่นๆ ก็เหมือนกับการขับรถพุ่งไปยังขอบหน้าผา ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงการตกลงในเหวได้เลย สิ่งที่เรียกขานกันว่า “เอกราชของไต้หวัน” คือทางตันซึ่งไม่สามารถฟันฝ่า และหลักการจีนเดียวคือเส้นสีแดงที่ห้ามก้าวข้าม