วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์วัชระ เพชรทองร้อง ป.ป.ช.สอบบริษัทซิโน-ไทย

Related Posts

ร้อง ป.ป.ช.สอบบริษัทซิโน-ไทย

“…วัชระ ร้อง ป.ป.ช.สอบบริษัทซิโน-ไทยกับพวกกรณีสินบนไทย-ญี่ปุ่นโรงไฟฟ้าขนอม 20 ล้าน…”

(30 พ.ค.65) เมื่อเวลา 11.25 น.ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านนายปกครอง สุวรรณดารา รักษาการ ผอ.สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ

ป.ป.ช.ถึง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกรณีสินบนโรงไฟฟ้าขนอมกับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 , นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กก.ผจก.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 และ นายราเกส กาเลีย ผู้ช่วยกก.ผจก.ส่วนงานปฏิบัติการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7  ว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พรป.ป.ป.ช. และกฎหมายอื่นใดหรือไม่

จากสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ป.ป.ช. คดีหมายเลขดำที่ 07-3-619/2560 คดีหมายเลขแดงที่ 308-3-50/2562 มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.63 ไม่ฟ้องบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และตัวแทนผู้มีอำนาจรวม 3 ราย เพราะเห็นว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นการไต่สวนไม่ตรงตัวบทกฎหมายตั้งแต่ต้นตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 144 ความผิดฐานเป็นผู้ให้สินบน และตามคำพิพากษาศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขดำที่ อท40/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อท55/2565 เมื่อวันที่ 3 พ.ค.65 จำคุกเจ้าหน้าที่รัฐ 4 ราย คือ นาวาโท สาธิต ชินวรณ์ จำคุก 15 ปี , นายคณิน เมืองด้วง , นายอภิชาต สวัสดิรัตน์ และ พ.ต.ท.สันติพงษ์ พันธ์สวัสดิ์ จำคุกคนละ 7 ปี มีความผิดฐานเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด คดีสินบนโรงไฟฟ้าขนอม ดังนั้น จึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการไต่สวนใหม่กับผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 3 รายคือ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) , นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กก.ผจก.บริษัท ซิโน-ไทยฯ และนายราเกส กาเลีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการบริษัท ซิโน-ไทยฯ (ตำแหน่งขณะนั้น) สำหรับนายราเกส กาเลีย ทราบว่าหลบหนีกลับประเทศอินเดียทันทีหลังจากที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลให้ดำเนินคดีในครั้งแรก จึงขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้รัฐบาลประเทศอินเดียส่งตัวนายราเกสฯกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยต่อไป

อนึ่ง ในสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ระบุว่า “พิจารณาแล้วเห็นว่า ปรากฏตามข้อเท็จจริงและมีพยานหลักฐานยืนยันว่านายราเกส กาเลีย ได้นัดหมายกันให้มาพบนายภาคภูมิ ศรีชำนิ ในวันที่ 16 ก.พ.58เพื่อเข้ามารับเงินสดจำนวน 20 ล้านบาทที่ชั้น 25 สำนักงานใหญ่ บริษัท ซิโน-ไทยฯ  มีผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่อำเภอขนอม 4 ฝ่ายคือกรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ ชาวประมง และอบต. เพื่อนำไปส่งมอบให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-4 ในพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อแลกกับการอนุญาตให้มีการใช้ท่าเรือชั่วคราวและ/หรือให้เรือเข้าเทียบท่า เพื่อขนถ่ายชิ้นส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5-6 เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-4 ในการเรียกรับเงินสินบน ถือเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐในการกระทำความผิด เนื่องจากมีพฤติการณ์ในการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-4 ในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในการเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

ทั้งนี้ คดีมีประเด็นต้องพิจารณาต่อไปว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-7 ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการหรือไม่ อย่างไร
องค์คณะในการไต่สวนพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด แม้จะไม่มีมูลค่าความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน แต่การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบบริหารราชการแผ่นดินอย่างร้ายแรง และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศไทย การกระทำของบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 และนายราเกส กาเลีย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนี่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.149 และม.157ประกอบ ม.86”

ในตอนหนึ่งของคำพิพากษาศาลอาญาฯ ระบุว่า “พยานทั้งสองเดินทางออกจาก อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เวลาประมาณ 12 นาฬิกา ของวันที่ 16 ก.พ.58  นัดหมายพบกันที่บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อไปถึงพบชายชาวญี่ปุ่น 2 คน หนึ่งในนั้นเคยไปรับการแนะนำให้รู้จักกันมา ก่อนที่หน้างานโรงไฟฟ้าขนอมเพื่อให้เป็นผู้ประสานงานการรับเงินที่กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) อีก 1 คน เป็นชาวต่างชาติใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร หลังจากนั้นชายชาวญี่ปุ่นได้นำกระเป๋าเดินทางมาให้ 2ใบ เปิดกระเป๋าเดินทางทั้ง2ใบให้ดู พบว่าเป็นเงินจำนวนกระเป๋าละ 10 ล้านบาท แล้วปิดกระเป๋าพร้อมกับส่งมอบให้พยานทั้ง 2 เดินทางกลับอ.ขนอมทันที”

นายวัชระ กล่าวว่า เมื่อคำพิพากษาและจากสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นเช่นนี้จึงขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตั้งเรื่องไต่สวนนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กก.ผจก.บริษัท ซิโน-ไทยกับพวกตามข้อเท็จจริงและฐานความผิดที่เกี่ยวข้องต่อไปโดยเร็วที่สุด ในส่วนจำเลยทั้ง 4 ที่ป.ป.ช.ฟ้องเอาผิดว่ารับสินบน 20 ล้านบาท เป็นข้าราชการตำแหน่งไม่ใหญ่โตถูกศาลตัดสินจำคุก 7 และ 15 ปี ขณะนี้ติดคุกอยู่โดยไม่ได้ประกันตัว  สังคมจึงสงสัยว่าเหตุใดผู้จัดการให้เงินดังกล่าว ป.ป.ช.จึงไม่ฟ้องรวมในคราวเดียวเป็นคดีเดียวกัน เพราะสำนวนการไต่สวนเดิมแน่นหนาดีอยู่แล้ว ดังนั้นต้องติดตามดูว่า ป.ป.ช.จะฟ้องเมื่อใด ข้อหาอะไร จึงต้องมายื่นหนังสือทวงถามความยุติธรรมในครั้งนี้
อนึ่ง คำพิพากษานี้เป็นของศาลชั้นต้น  คดียังไม่ถึงที่สุด  จำเลยยังมีสิทธิ์อุทธรณ์ฎีกา ซึ่งต้องติดตามคำพิพากษาของศาลสูงต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts