วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจพลังงานไฟฟ้าทางเลือก AEDP-PDP 2024
มหกรรมปาหี่ "พลังงาน-กกพ."

Related Posts

ไฟฟ้าทางเลือก AEDP-PDP 2024
มหกรรมปาหี่ “พลังงาน-กกพ.”

“… “น่าแปลก! ในรายชื่อผู้ผลิตไฟฟ้า ที่ กกพ.ประกาศออกมาข้างต้นนั้นหาได้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก SPP หรือรายเล็กมาก (VSPP) อย่างที่เราเข้าใจ เพราะเมื่อไล่เลียงไปดูรายชื่อผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกที่ว่านั้น กลับล้วนแล้วแต่ “บิ๊กบึ้ม” คับประเทศทั้งสิ้น!  โดยเฉพาะ 2 ผู้ผลิตรายใหญ่ Gulf และ Gunkul ที่แทบจะกวาดสัญญาขายไฟฟ้าในเฟสแรกไปกว่าครึ่งของปริมาณที่ กกพ.ตั้งโต๊ะรับซื้อเบ็ดเสร็จ เอาว่า “กวาดเรียบ” แบ่งเค้กโครงการไฟฟ้าพลังงานทางเลือกไปรวมกว่า 40 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 2,000 เมกะวัตต์ หรือเกือบครึ่งของทั้งโครงการไปแล้ว ดังนั้น เมื่อ กกพ.ตีฆ้องจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทางเลือกระลอก 2 อีกกว่า 3,600 เมกะวัตต์ ด้วยข้ออ้างเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด Green Energy 100% กลุ่มทุนพลังงานเหล่านี้ จึงเป็นตัวเต็งที่นอนมาตั้งแต่ไก่โห่ กลายเป็นบริษัทลูกที่กลุ่มทุนไฟฟ้าดอดไปตั้งขึ้นมาบังหน้า เพื่อดอดเข้ามาฮุบโครงการเหล่านี้  จะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก SPP หรือ รายย่อย VSPP ตรงไหน (เอาปากกามาวง!)…”

ไฟฟ้าทางเลือก AEDP-PDP 2024
มหกรรมปาหี่ “พลังงาน-กกพ.”
เพิ่มสัดส่วนซื้อไฟ SPP-VSPP ตรงไหน? (เอาปากกามาวง) !!!

ขณะที่พลังงาน-กกพ.ตีปี๊บนโยบายรับซื้อไฟฟ้างานทดแทนและทางเลือก จะเป็นแม่เหล็กใหม่ดึงดูดการลงทุน “บิ๊กคอร์ป” ระดับโลกเข้ามาตั้งฐานในไทย

แต่เนื้อแท้ของนโยบายดังกล่าว กลับเปิดช่อง กลุ่มทุนพลังงาน “กวาดเรียบ” ไฟฟ้าทางเลือกที่ว่า โดยไม่มีใครกล้าแอะ

หลังเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกมาส่งสัญญาน กกพ.เตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เฟส 2 อีกจำนวน 3,600 เมกะวัตต์ ในช่วงไตรมาส 3/2567 นี้ จากที่ก่อนหน้านี้ กกพ.ได้ตั้งโต๊ะรับซื้อไฟจากกลุ่มผู้ผลิตที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงในเฟสแรกไปแล้ว 5,203 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ในช่วง ปี 2565 – 2573

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

ส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์ต่างพากันให้น้ำหนักหุ้นเด่นในกลุ่มพลังงาน ทั้ง  Gulf  Gunkul  BGRIM และ ACE  ที่คาดว่า จะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้อานิสงส์จากการขายไฟเข้าระบบมากที่สุด และน่าจะกวาดสัญญาขายไฟฟ้ากับ กกพ.เหนือกลุ่มอื่นๆ  เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าทำสัญญาขายไฟฟ้าทางเลือกในโครงการเฟสแรกมาแล้ว

อย่างไรก็ตามโครงการจัดหาไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงข้างต้น เริ่มถูกตั้งคำถามจากผู้คนในสังคมว่า ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโครงการหรือไม่ เนื้อแท้ของการดำเนินโครงการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนพลังงานบางราย (อย่างโจ๋งครึ่ม) หรือไม่?

ท่ามกลางข้อกังขาของผู้คนในสังคม ก็ไหนพลังงาน และ กกพ.ตีฆ้องป่าวประกาศว่า เป็นโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก SPP และรายเล็กมาก VSPP แต่บริษัทเอกชนที่ “ตบเท้า” เข้ามาฮุบโครงการนี้ไป หาใช่โรงไฟฟ้าขนาดเล็กหรือ Small Power Producer : SPP หรือโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก Very Small VSPP 

แม้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ PDP2024 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ที่ กกพ.เตรียมทำคลอดล่าสุด ที่มีแผนจะเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกมากกว่า 50% จากแผน PDP2018 เดิมที่มีสัดส่วนเพียง 20% ทำให้โครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทางเลือกตามแผน AEDP ดังกล่าว เป็นที่จับตามองว่าจะเป็น “จุดเปลี่ยน” พลังงานของประเทศครั้งใหญ่  แต่ก็เต็มไปด้วยข้อสงสัยว่า เป็น “จุดเปลี่ยน” เพื่อประชาชน หรือกลุ่มทุนพลังงานกันแน่!

โดยผู้คว่ำหวอดในแวดวงพลังงาน ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด  หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนรอยกลับไปพิจารณาถึงโครงการตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ในเฟสแรกที่ กกพ.ดำเนินการไปก่อนหน้า ในปี 2565-2566 จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ โดยกำหนดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เป็น Green Energy ไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทไฟฟ้าพลังานแสงอาทิตย์แบบติดตัังบนพื้นดินหรือ “โซลาร์ฟาร์ม”, ประเภทก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย), พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 

โดยกำหนดเงื่อนไขรับซื้อไว้ในแต่ละประเภทไว้ดังนี้

1. การรับซื้อไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบสัญญาที่ไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า (Non-Firm) จากผู้ผลิตรายเล็ก Small Power Producer : SPP ที่มีจำนวนไฟฟ้าเสนอขายระหว่าง 10-90 เมกะวัตต์  หรือผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (Very Small Power Producer: VSPP) ที่มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ มีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี

2. พลังงานลม เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบสัญญาNon-Firm จากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) หรือรายเล็กมาก (VSPP)  โดยมีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี กำหนดปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 1,500 เมกะวัตต์ โดยจะเข้าระบบตั้งแต่ปี 2568-2573 ปีละ 250 เมกะวัตต์

3.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบสัญญา Non-Firm จากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP หรือ VSPP  รวม 2,368 เมกะวัตต์ โดยจะเข้าระบบตั้งแต่ปี 2567-2573 อายุสัญญา 25 ปี  และ

4. พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) เปิดรับซื้อในรูปแบบสัญญา Partial-Firm จากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP เท่านั้น โดยมีปริมาณรับซื้อรวม 1,000 เมกะวัตต์ อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี แบ่งเป็นการรับซื้อระหว่างปี 2567-2570 จำนวนปีละ 100 เมกะวัตต์ และปี 2571-2573 จำนวนปีละ 200 เมกะวัตต์

ผลปรากฏว่า กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า SPP ได้ตบเท้าเข้ายื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าตามประเภทเชื้อเพลิงดังนี้

1. พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) มีผู้เสนอขายไฟฟ้า 52 โครงการ รวม 2,171.19 เมกะวัตต์ 

2.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) จำนวน 141 โครงการ จำนวน 7,537.71 เมกะวัตต์

และ 3. พลังงานลม เสนอขายไฟฟ้า 79 โครงการ รวม 5,509.93 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมด 272 โครงการ ปริมาณ 15,218.83 เมกะวัตต์ โดยไม่มีการเสนอขายไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพแต่อย่างใด

ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า VSPP ได้เสนอขายไฟฟ้า 1. ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) มีผู้เสนอขายไฟฟ้าเพียง 2 โครงการ รวม 6.50 เมกะวัตต์  2.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 381 โครงการ จำนวน 2,066.04  เมกะวัตต์ และ 3. พลังงานลม เสนอขายไฟฟ้า 15 โครงการ รวม 109.04  เมกะวัตต์ รวมทั้งหมด 398 โครงการปริมาณ 2,181.58  เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 670 ราย 17,400 เมกะวัตต์

ก่อนที่ กกพ.จะเคาะผลการพิจารณาคัดเลือกเมื่อวันที่  5 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา จำนวน 175 ราย ประกอบด้วย

1.พลังงานลม มีผู้ผลิตรายเล็ก SPP ได้รับคัดเลือก 20 ราย 1,474 เมกะวัตต์ ผู้ผลิตไฟฟ้า VSPP 2 ราย 16 เมกะวัตต์ 

2.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งพื้นดินโซลาร์ฟาร์ม ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก SPP 39 รายจำนวน 1,877 เมกะวัตต์ และผู้ผลิต VSPP  90 รายจำนวน 490 เมกะวัตต์

3.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งพื้นร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน จำนวน 24 ราย 994 เมกะวัตต์  ส่วนไฟฟ้าจากชีวภาพไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ

น่าแปลก! ในรายชื่อผู้ผลิตไฟฟ้า ที่ กกพ.ประกาศออกมาข้างต้นนั้นหาได้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) หรือ รายเล็กมาก (VSPP) อย่างที่เราเข้าใจ เพราะเมื่อไล่เลียงไปดูรายชื่อผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกที่ว่านั้น กลับล้วนแล้วแต่ “บิ๊กบึ้ม” คับประเทศทั้งสิ้น!

โดยเฉพาะ 2 ผู้ผลิตรายใหญ่ Gulf และ Gunkul ที่แทบจะกวาดสัญญาขายไฟฟ้าในเฟสแรกไปกว่าครึ่งของปริมาณที่ กกพ.ตั้งโต๊ะรับซื้อ

โดย Gulf รายเดียวนั้น กวาดสัญญาผลิตไฟฟ้าพลังงานลมไปกว่า 1,000 เมกะวัตต์ จากที่ตั้งโต๊ะรับซื้อ 1,490 เมกะวัตต์ และยังกวาดสัญญาไฟฟ้าไซลาร์ฟาร์ม 2 ประเภทไปอีก  25 โครงการ 1,353 เมกกะวัตต์รวม 2 ประเภทกว่า 2,300 เมกะวัตต์ส่วน Gunkul ก็คว้าโครงการโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์ฟาร์ม+ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานไปรวม 15โครงการกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 652.4 เมกะวัตต์

เบ็ดเสร็จเอาว่า 2 บิ๊กคอร์ปทุนพลังงานที่ว่าก็ “กวาดเรียบ” แบ่งเค้กโครงการไฟฟ้าพลังงานทางเลือกไปรวมกว่า 40 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 2,000 เมกะวัตต์หรือเกือบครึ่งของทั้งโครงการไปแล้ว ดังนั้น เมื่อ กกพ.ตีฆ้องจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทางเลือกระลอก 2 อีกกว่า 3,600 เมกะวัตต์ ด้วยข้ออ้างเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด Green Energy 100% กลุ่มทุนพลังงานเหล่านี้ จึงเป็นตัวเต็งที่นอนมาตั้งแต่ไก่โห่

ท่ามกลางข้อกังขาของผู้คนในสังคม ก็ไหนพลังงานและ กกพ.ตีฆ้องป่าวประกาศว่า เป็นโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก SPP และรายเล็กมาก VSPP แต่บริษัทเอกชนที่ “ตบเท้า”เข้ามาฮุบโครงการนี้ไป หาใช่โรงไฟฟ้าขนาดเล็กหรือ Small Power Producer : SPP หรือโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก Very Small VSPP 

แต่กลับกลายเป็น Very Super Power Producer: VSPP  คือ ผู้ผลิตรายใหญ่สุด บิ๊กบึ้มของประเทศแทบทั้งสิ้น กลายเป็นบริษัทลูกที่กลุ่มทุนไฟฟ้าดอดไปตั้งขึ้นมาบังหน้าเพื่อดอดเข้ามาฮุบโครงการเหล่านี้

เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กSPPหรือรายย่อย VSPP ตรงไหน (เอาปากกามาวง!)

#สืบจากข่าว รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts