การปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 25-100% ของสหรัฐฯ นั้นจะเกิดขึ้นใน 3 เดือนข้างหน้า โดยการปรับเพิ่มภาษีครั้งนี้ มุ่งเป้าไปยังอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของจีน เป็นการดำเนินการมาตรการกีดกันการค้าอย่างมีกลยุทธ เป็น Strategic Trade Policy
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนรอบใหม่จะเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสต่อไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยบางธุรกิจอุตสาหกรรมอาจกระทบรุนแรงถึงขั้นปิดกิจการได้ หรือบางธุรกิจอุตสาหกรรมจะเข้าสู่การหดตัวและขาลงอย่างชัดเจน อีกด้านเกิดโอกาสต่อไทยและภูมิภาคอาเซียน ในการเปิดรับการลงทุนย้ายฐานการผลิตเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม พลวัตของผลกระทบทั้งลบและบวกยังไม่ชัดเจน ต้องรอดูว่าจีนจะมีมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างไร ที่ผ่านมาจีนใช้วิธีการอุดหนุนเพื่อให้ภาคการผลิตมีต้นทุนต่ำและบริหารจัดการค่าเงินหยวนให้อ่อนค่ากว่าปัจจัยพื้นฐานมากๆ เพื่อสนับสนุนการส่งออกและดึงให้เศรษฐกิจภายในพ้นจากภาวะเงินฝืดและดูดซับการลงทุนและกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมาก
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ต้องประเมินคือ จะเกิดการตอบโต้ด้วยการขึ้นกำแพงภาษีหรือการใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) เพิ่มเติมระหว่างจีนกับอียู และอียูกับสหรัฐฯ หรือไม่ หากเกิดภาวะดังกล่าวเพิ่มเติมเข้ามาอีก จะทำให้ระบบการค้าเสรีของโลกภายใต้กรอบข้อตกลงขององค์การการค้าโลกและทุนนิยมโลกาภิวัตน์ เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิมมากยิ่งขึ้น
อุตสาหกรรมและสินค้าที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ได้แก่ สินค้าที่อัตราการเก็บภาษีสูงและสัดส่วนการนำเข้าจากจีนสูง สินค้าที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของการผลิตในอุตสาหกรรมหลากหลาย เช่น Lithium-ion batteries สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนสูงถึง 70% ของนำเข้าทั้งหมดสินค้าประเภทนี้ของสหรัฐฯ มีการขึ้นอัตราภาษีจาก 10.9% เป็น 28.4% Personal Protective Equipment (PPE) สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนมากถึง 67% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด ชิ้นส่วนแบตเตอร์รี่ สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนมากถึง 24-25% โดยมีการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจาก 0-7.9% เป็น 25-33% การตั้งกำแพงภาษีสินค้าเหล่านี้จะทำให้มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้นทดแทน
การที่ไทยและอาเซียนจะได้ประโยชน์จากการนำเข้าทดแทนหรือไม่ อยู่ที่สินค้าของเรามีคุณภาพ ราคาเหมาะสมหรือแข่งขันได้หรือไม่ในตลาดสหรัฐฯและตลาดโลก แต่ในอีกด้านหนึ่ง สินค้าเหล่านี้จะถูกทุ่มตลาดกดราคาให้ต่ำมากจนอาจกระทบต่อภาคผลิตไทยที่แข่งขันไม่ได้ ส่วนรถยนต์อีวีที่มีการขึ้นอัตราภาษีสูงอย่างมากจาก 27% เป็น 102.5% นั้นจะไม่ส่งผลอย่างมีนัยยสำคัญต่อตลาดและอุตสาหกรรมการผลิต EV ในไทยและอาเซียนมากนัก เพราะสหรัฐฯ นำเข้าจากจีนประมาณ 2% การขึ้นภาษีนำเข้าในส่วนนี้จึงไม่ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังไทยและอาเซียนอย่างมีนัยยสำคัญ แต่จะทำให้รถ EV ที่ส่งออกไปจากจีนไม่สามารถขายได้ เพราะโดนเก็บภาษีมากกว่า 100% ถือเป็นการเก็บภาษีที่มีลักษณะเป็นการลงโทษ (Punitive Tarriff) และขายในตลาดสหรัฐฯ (Prohibitive Tarriff) ไม่ได้
การปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าบางตัวจากจีน จะทำให้สหรัฐฯ หันมาใช้จากการผลิตในประเทศมากขึ้น นำเข้าจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและอาเซียนมากขึ้น อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าบางประเภทอาจย้ายฐานผลิตมายังไทยและอาเซียนมากขึ้น ทว่าอาจหนีไม่พ้นผลกระทบจากสงครามการค้าเพราะอาจต้องเผชิญกับมาตรการ Anti-Circumvention (มาตรการตอบโต้การค้าไม่เป็นธรรมเพิ่มเติม) เหมือนธุรกิจผลิตหรือส่งออก Solar Cells จากไทยหรืออาเซียนเจอตอบโต้ผ่านมาตรการ Anti-Circumvention เนื่องจากมีการย้ายมาผลิต หรือประกอบบางส่วน หรือ ดัดแปลงบางส่วน หรือส่งออกผ่านประเทศตัวกลางเพื่อเลี่ยงภาษี