หนังสือเล่มใหม่ของแอนโทนี คาร์ตี นักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า ประวัติศาสตร์ชาติตะวันตกสนับสนุนอธิปไตยของจีนเหนือหมู่เกาะที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ หลังจากดำเนินการวิจัยจดหมายเหตุระดับชาติของสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ อย่างลึกซึ้ง
คาร์ตีแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษในรายการไชน่า เทรนด์ส (China Trends) เมื่อไม่นานนี้ โดยคาร์ตีเผยว่าประวัติศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าสหรัฐฯ เป็นผู้ก่อปัญหาในประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้ ขณะการอ้างอธิปไตยของจีนเหนือหมู่เกาะหนานซาและหมู่เกาะซีซา มีรากฐานทางกฎหมายอยู่ในจดหมายเหตุชาติตะวันตก
สหรัฐฯ ผู้ก่อปัญหาในทะเลจีนใต้
คาร์ตี ซึ่งออกหนังสือเล่มใหม่ที่ชื่อ “ประวัติศาสตร์และอธิปไตยของทะเลจีนใต้” (The History and Sovereignty of South China Sea) กล่าวว่าการแสวงหาอำนาจนำ รวมถึงการรักษาความเหนือกว่าและการมีอิทธิพลเหนือกว่า เป็นแรงจูงใจที่แท้จริงของสหรัฐฯ ในการจุดชนวนความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
การศึกษาจดหมายเหตุของจอห์น ดัลเลส อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในจดหมายเหตุของไอเซนฮาวร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้คาร์ตีค้นพบบันทึกการสนทนาระหว่างนายพล ดักลาส แมคอาเธอร์ กับจอร์จ เคนัน ซึ่งบ่งชี้แรงจูงใจของสหรัฐฯ ในการเข้าแทรกแซงประเด็นทะเลจีนใต้
“พวกเขาเห็นด้วยกับความคิดริเริ่มของจอร์จ เคนัน ที่ว่าเขตแดนตะวันตกของสหรัฐฯ ต้องชนกับแนวชายฝั่งตะวันออกของจีน” คาร์ตีกล่าว โดยนายพล ดักลาส แมคอาเธอร์ มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางทหารของสหรัฐฯ ในเอเชียระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนจอร์จ เคนัน เป็นนักการทูตระดับสูงของสหรัฐฯ ผู้เสนอหลักการควบคุมสหภาพโซเวียต
สำหรับนโยบายของสหรัฐฯ เกี่ยวกับเอเชียตะวันออก คาร์ตีอธิบายว่าหลักการของสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 คือต้องมีอำนาจและอิทธิพลเหนือกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งหมด ดังนั้นยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกคือไม่ให้ประเทศมหาอำนาจแห่งอื่นๆ ก้าวขึ้นมามีความเหนือกว่า นั่นคือเหตุผลของการมุ่งร้ายเป็นศัตรูกับจีน
นอกจากนั้นคาร์ตีอ้างอิงถึงบันทึกจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งระบุว่าไม่ว่าเกิดสถานการณ์ใดขึ้นมา สหรัฐฯ ไม่ควรปล่อยให้หมู่เกาะในทะเลจีนใต้กลับไปอยู่ในมือของจีน มิเช่นนั้นจะไม่เป็นผลดีต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ
คณะอนุญาโตตุลาการ 2016 “ตุ๊กตาล้มลุก”
คาร์ตีเรียกคณะอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับประเด็นทะเลจีนใต้ในปี 2016 ว่า “ฮัมป์ตี้ ดัมป์ตี้” (Humpty Dumpty) หรือตุ๊กตาล้มลุก โดยคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว “เล่นกลอุบาย” ด้วยการจงใจตีความมาตรา 121 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลอย่างไม่ถูกต้อง
การตีความของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว สวนทางกับคำอธิบายทางภูมิศาสตร์และลายลักษณ์อักษรของมาตรา 121 โดยการตีความว่าเกาะเหล่านี้เป็นหินมิใช่การตีความทางธรณีวิทยาหรือทางไวยากรณ์อันน่าเชื่อถือตามมาตรา 121 (2) และ 121 (3) ซึ่งทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว
คาร์ตีแย้งว่าคำกล่าวอ้างของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับจีนไม่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยสหรัฐฯ ท้าทายและเพิกเฉยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขณะเดียวกันบรรดาชาติมหาอำนาจจัดตั้งพันธมิตรต่อต้านจีน กล่าวหาว่าจีนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่ยอมรับคำวินิจฉัยระหว่างประเทศ ทั้งที่สหรัฐฯ เองไม่เคยจะทำเหมือนกัน
จดหมายเหตุชาติตะวันตกสนับสนุนคำกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะทะเลจีนใต้ของจีน
หลังจากดำเนินการวิจัยจดหมายเหตุระดับชาติของสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ อย่างลึกซึ้ง คาร์ตีแจกแจงผ่านหนังสือ “ประวัติศาสตร์และอธิปไตยของทะเลจีนใต้” ว่าจดหมายเหตุของชาติตะวันตก แสดงข้อพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอธิปไตยของจีนเหนือหมู่เกาะที่เป็นข้อพิพาทอย่างหมู่เกาะหนานซาและหมู่เกาะซีซา
คาร์ตีอ้างอิงเอกสารหลายฉบับจากกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ระบุว่าสหราชอาณาจักรมีจุดยืนชัดเจนเกี่ยวกับหมู่เกาะซีซาหรือหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งสืบย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1930 ที่ราชวงศ์ชิงของจีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะซีซาในปี 1909
สำหรับหมู่เกาะหนานซาหรือหมู่เกาะสแปรตลีย์ มีการอภิปรายภายในกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร หลังเสร็จสิ้นการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส โดยพวกเขามีมติว่าหมู่เกาะหนานซาเป็นของจีน เมื่ออ้างอิงบันทึกที่พวกเขารวบรวมเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส รวมถึงประเทศอื่นๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 1890
ทั้งนี้ คาร์ตีเรียกร้องแนวทางแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้อย่างสันติ และชี้ว่าการกำหนดเขตแดนทางทะเลขึ้นอยู่กับรัฐบาลของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวางเขตแดน
ที่มา : ซินหัว