“…กลุ่มซีพี.-รถไฟ ช่างกล้ารื้อเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน “ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน” อีกระลอก คราวนี้จัดชุดใหญ่ ให้รัฐดึงเงินร่วมลงทุน 1.19 แสนล้านลุยไฟก่อสร้างโครงการก่อน หลังกลุ่มทุนซีพีจนมุมระดมทุนจากสถาบันการเงิน หลังมีกระแสข่าวสะพัดบริษัทเอเชียเอราวัน จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท ประสบปัญหาในการระดมทุนดำเนินโครงการมานานหลายปี จนทำให้โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายนี้ล่าช้ามากว่า 5 ปี โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะเปิดหวูดก่อสร้างโครงการได้เมื่อไหร่ ทั้งที่รัฐบาลได้ลงนามในสัญญาโครงการนี้ไปตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2562 หรือเมื่อเกือบ 5 ปีมาแล้ว การแก้ไขสัญญาดังกล่าวเท่ากับเป็นการรื้อเงื่อนไขประกวดราคาเดิมทั้งไป จากเดิมเอกชนต้องระดมทุนมาดำเนินโครงการ มาเป็นการดึงเงินที่รัฐจะให้การสนับสนุนมาลงทุนเอง แล้วให้เอกชนรับสัมปทานเดินรถกับพัฒนาที่ดินไปแทน ไม่เรียกจับเสือมือเปล่า ก็ไม่รู้จะให้เรียกว่าอะไรแล้ว…”
กวักมือเรียกก้าวไกล(กก.) จับตามหกรรมถอนทุน
กลุ่มซีพีรับ “หืดจับ” ระดมทุนสร้างไฮสปีดเทรน
ร่อนหนังสือถึงรถไฟขอแก้ไขสัญญาสัมปทานชุดใหญ่
ดึงเงินรัฐ 1.19 แสนล้านลงทุนแทน -เอกชนแปลงร่างรับสัมปทานเดินรถ-พัฒนาที่ดิน
กลุ่มซีพี.-รถไฟช่างกล้ารื้อเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน “ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน” อีกระลอก คราวนี้จัดชุดใหญ่ ให้รัฐดึงเงินร่วมลงทุน 1.19 แสนล้านลุยไฟก่อสร้างโครงการก่อน หลังกลุ่มทุนซีพีจนมุมระดมทุนจากสถาบันการเงิน วงการรับเหมากวักมือเรียกก้าวไกลไม่สนตรวจสอบบ้าง
หลังมีกระแสข่าวสะพัด บริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท ประสบปัญหาในการระดมทุนดำเนินโครงการมานานหลายปี จนทำให้โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายนี้ล่าช้ามากว่า 5 ปี โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะเปิดหวูดก่อสร้างโครงการได้เมื่อไหร่ ทั้งที่รัฐบาลได้ลงนามในสัญญาโครงการนี้ไปตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2562 หรือเมื่อเกือบ 5 ปีมาแล้ว
*กลุ่มซีพียอมรับจนสปัญญาระดมทุน
ล่าสุดมีรายงานว่า บริษัทเอเซียเอราวัน ได้ตั้งแท่นยื่นข้อเรียกร้องขอเจรจาแก้ไขสัญญามายังการรถไฟฯ ด้วยข้ออ้าง บริษัทประสบปัญหาในการระดมทุนจากสถาบันการเงิน ภายหลังผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19 และผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.)และการรถไฟฯ ได้มีการตั้งคณะทำงานหารือกับบริษัทเอกชนจนได้ข้อยุติไประดับหนึ่งแล้ว และได้นำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท.ไปเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะดำเนินการในขั้นต่อไป
ทั้งนี้ นายอนันต์ โพธ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟฯ เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่ประขุมบอร์ดรถไฟฯ ได้รับทราบหลักการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ จากผลกระทบโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตามที่รฟท. สำนักงาน สกพอ. และเอเชียเอราวัน หารือร่วมกัน จะแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ ภายใต้หลักการรัฐไม่เสียผลประโยชน์และเอกชนไม่ได้รับผลประโยชน์มากเกินไป โดยการแก้ไขสัญญานั้นต้องผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) และมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ คือนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสัญญา คณะกรรมการกำกับสัญญา สกพอ. คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือน จึงนำไปสู่การแก้ไขสัญญาได้
*เปิด 3 เงื่อนไขรื้อสัญญาใหม่ยกกระบิ
รายละเอียดการแก้ไขสัญญา ประกอบด้วย 1. ให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิรับโอนโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสอีก 1,060 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 11,717.09 ล้านบาท โดยผ่อนจ่าย 7 งวด โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย
2.ปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ จำนวน 119,425 ล้านบาทเร็วขึ้น จากสัญญาเดิมที่รัฐจะจ่ายเงินชดเชยเมื่อโครงการแล้วเสร็จ(ปีที่ 6 ของสัญญา) มาเป็นเดือนที่ 18 นับจากออก NTP เริ่มงานก่อสร้าง เนื่องจากมีวิกฤตโควิด-19 สงครามรัสเซียกับยูเครน และวิกฤตของระบบสถาบันการเงินทั่วโลกส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น บริษัทไม่สามารถหาเงินกู้ได้ จึงเสนอแก้ไข ปรับการจ่ายเงินเป็นสร้างไป-จ่ายไป
3.เพิ่มเงื่อนไขให้เอกชนวางหนังสือค้ำประกันหรือ “แบงก์การันตี” ใน 2 ส่วน รวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท แยกเป็น 1.ค่าสิทธิร่วมลงทุนแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671.09 ล้านบาท เพื่อเป็นการยืนยันการแบ่งจ่ายค่างวด และ 2 .แบงก์การันตี ในส่วนของเงินร่วมลงทุน 119,425 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้ความมั่นใจว่าเอกชนจะดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ
ส่วนเงื่อนไขเอกชนต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก่อนออก NTP นั้น ได้ตัดออกจากสัญญาร่วมทุนแล้ว ขณะที่งานก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ทับซ้อนกับรถไฟไทย-จีน ทางเอกชนพร้อมก่อสร้างฐานรากตอม่อ และโครงสร้างทางวิ่งให้ คาดว่าจะออก NTP ให้เริ่มงานก่อสร้างโครงการได้ในปี 2567 นี้ ใช้เวลาสร้าง 5 ปี เสร็จปี 2572
*รื้อ TOR แก้สัมปทานยกกระบิแบบนี้ก็ได้หรือ?
โดยสรุปแล้ว กลุ่มซีพี.ได้ยื่นขอแก้ไขสัญญาใหม่ยกกระบิ โดยขอให้รัฐจ่ายเงินสนับสนุนการก่อสร้างหรือเงินร่วมลงทุนมาลุยไฟโครงการแทน พร้อมกับขอเลื่อนจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ จำนวน 10,671 ล้านบาทออกไป7 ปี รวมทั้งยังมีข่าวด้วยวว่า ในเงื่อนไขที่ยื่นขอเจรจายนั้น บริษัท ยังขอเลื่อนจ่ายค่าสิทธิ์การใช้ที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการในส่วนของพื้นที่บริการสนับสนุน(TOD) ทั้งสถานีมักกะสันจำนวน 140 ไร่และสถานีศรีราชา 100 ไร่ วงเงินรวมกว่า 45,000 ล้านบาท โดยจะขอจ่ายในปีที่ 21 ของสัญญา
ขณะที่ หน่วยงานรัฐคู่สัญญาทั้งการรถไฟฯ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ก็ตั้งแท่นขานรับกันอย่างพร้อมเพรียงเพื่อแลกกับการให้เอกชนแบกรับภาระการก่อสร้างโครงสร้างร่วมในพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟไทย-จีน วงเงินราว 9,300 ล้านบาท
การแก้ไขสัญญาดังกล่าวเท่ากับเป็นการรื้อเงื่อนไขประกวดราคาเดิมทั้งไป จากเดิมเอกชนต้องระดมทุนมาดำเนินโครงการ มาเป็นการดึงเงินที่รัฐจะให้การสนับสนุนมาลงทุนเอง แล้วให้เอกชนรับสัมปทานเดินรถกับพัฒนาที่ดินไปแทน
ไม่เรียกจับเสือมือเปล่า ก็ไม่รู้จะให้เรียกว่าอะไรแล้ว???
แหล่งข่าวในวงการรับเหมา ได้เรียกร้องไปยัง พรรคก้าวไกลที่กำลังขึ้นหม้อจากผลโพลล์คะแนนนิยมล่าสุดที่สำรวจโดยสถาบันพระปกเกล้า ที่คะแนนนิยมของพรรคยังคง “นำโด่ง” จากผลงานตรวจสอบโครงการของรัฐทั้งหลาย โดยเฉพาะโครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” ว่า ไม่สนใจจะล้วงลูกลงไปตรวจสอบ “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน” มูลค่า 2.24 แสนล้านที่รัฐบาลชุดก่อนให้สัมปทานแก่กลุ่มทุนเจ้าสัว ซีพี. และพันธมิตรในนาม บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด กันบ้างหรือ?
เพราะหากโครงการดังกล่าวทำได้อีกหน่อย การประมูลโครงการรัฐก็ไม่มีความหมาย เอกชนจะตั้งแท่นเสนอราคาเพื่อให้ชนะไว้ก่อนแล้วค่อยมาเจรจาแก้ไขสัญญาในภายหลัง “แม้จะอ้างผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และสงคราม ที่ทำให้สถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยกู้หรือต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น แต่บริษัทก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าได้มีความพยายามในการระดมทุนใด ๆ ไปบ้างแล้ว”
ทั้งนี้แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อเทียบกับโครงการแจกเงิน “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่พรรคฝ่ายค้านก้าวไกล แบงก์ชาติ และหน่วยงานตรวจสอบทั้งสามโลกตั้งแท่นคัดค้านและตีโพยตีพายว่า รัฐบาลชุดนี้กำลังจะผลาญเม็ดเงินภาษีสร้างหนี้ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน หรือตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอะไรนั่นแล้ว อย่างน้อยเงิน ดิจิทัลวอลเล็ตก็ถูกส่งตรงไปถึงมือประชาชนคนไทยตั้ง 50 ล้านคน จะเอาไปจับจ่ายใช้สอยหรือไม่อย่างไรก็คงอยู่ที่ตัวเอง
แต่โครงการ ไฮสปีดเทรนเชื่อม3 สนามบินที่กลุ่มทุนยักษ์ซีพี.กำลังตั้งแท่นรื้อสัญญาสัมปทานกันอยู่นี้ เป็นการเอาเงินรัฐนับแสนล้านไปประเคนลงทุนให้เอกชนดื้อ ๆ ก่อนยกสัมปทานไปให้เอกชนเดินรถ 50 ปีไปเลย ทั้งเอกชนยังจะได้สิทธิ์เดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์กับสิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ และศรีราชา 100ไร่ มูลค่านับแสนล้านไปก่อน โดยไม่ต้องจ่ายค่าเข่าค่าสิทธิ์ตามสัญญาที่มีด้วยอีก
ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้นขัดแย้งกับเงื่อนไขประกวดราคา TOR และสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายลงนามกันไปเมื่อ5 ปีก่อนโดยสิ้นเชิง หากไม่เรียกว่าจับเสือมือเปล่า ก็ไม่รู้จะให้เรียกว่าอะไรแล้ว