1 มีนาคม 2567 นายกรัฐมนตรี ประกาศยกระดับท่าอากาศยานไทย ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ 150 ล้านคนต่อปี ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าแห่งภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดเป็น 1 ใน 10 ของโลก
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงาน “IGNITE THAILAND,AVIATION HUB” ว่า ในปี 2548 สนามบินสุวรรณภูมิ ติดอันดับ 13 ของสนามบินที่ดีที่สุดในโลกแต่ในปัจจุบันตกลงมาอยู่ที่ 68 ของโลก แต่อีก 6 เดือนนับจากนี้ จะเห็นความเปลี่ยนแปลง โดยปัจจุบัน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้เร่งรัดแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินในระยะ 10 ปี เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารให้ได้ถึง 150 ล้านคนซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา สนามบินสุวรรณภูมิได้เปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรือ SAT-1 เพิ่มปริมาณการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี ส่วนปี 2567 สนามบินสุวรรณภูมิ เตรียมเปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 รองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก-ทิศตะวันตกของอาคารผู้โดยสาร (EAST-WEST Expansion) เพิ่มปริมาณการรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) รองรับผู้โดยสารเพิ่มได้อีก 60 ล้านคนต่อปี และการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 เพิ่มการรองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง นอกจากนี้ยังจะส่งผลให้สนามบินสุวรรณภูมิรองรับสินค้าผ่านสนามบินได้เพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าตัวจากเดิมที่ขณะนี้รองรับสินค้าได้ 1.2 ล้านตันต่อปี
ในส่วนของสนามบินดอนเมืองนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะขยายขีดความสามารถของสนามบินดอนเมืองรองรับผู้โดยสารเป็น 50 ล้านคนต่อปี จากเดิมที่รองรับผู้โดยสารอยู่ 30 ล้านคนต่อปี และจะก่อสร้างอาคารจอดรถที่สามารถจอดได้ 7,600 คันเพราะผู้โดยสารที่ไปใช้บริการสนามบินดอนเมืองมักจะมีปัญหาเรื่องที่จอดรถ
ส่วนภาคใต้ที่มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหนาแน่นมากที่สุดนั้น ทาง AOT มีแผนจะขยายท่าอากาศยานภูเก็ต เพิ่มการรองรับผู้โดยสารเป็น 18 ล้านคนต่อปี รวมถึงแผนการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 40 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีแผนก่อสร้างสะพานสารสินใหม่แทนสะพานเดิมเพื่อให้เรือใหญ่หรือเรือสำราญสามารถวิ่งลอดผ่านได้ ไม่ต้องเสียเวลาอ้อมแหลมพรหมเทพที่ต้องใช้เวลาวิ่งอ้อม 2-3 ชั่วโมง
ขณะที่ฮับการบินทางภาคเหนือ ยังมีโครงการขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่ รองรับผู้โดยสารเป็น 16.5 ล้านคนต่อปี รวมทั้งแผนก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 หรือ ท่าอากาศยานล้านนา รองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี ส่วนท่าอากาศยานเชียงราย เตรียมสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่รองรับผู้โดยสารเป็น 6 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้ AOT ยังมีแผนการรับโอนสิทธิการบริหาร 3 ท่าอากาศยานภูมิภาค ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ เพื่อพัฒนาเป็นประตูเชื่อมประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน โดยท่าอากาศยานอุดรธานีเชื่อม สปป.ลาว ท่าอากาศยานบุรีรัมย์เชื่อมต่อกัมพูชา และท่าอากาศยานกระบี่ จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาปริมาณจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานภูเก็ต
นายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงการพัฒนาสายการบินไทยซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติด้วยว่า ถ้าการบินไทยไม่แข็งแรง การพัฒนาจะไปต่อไม่ได้ ต่อไปจะมีการพัฒนาเรื่องระบบตั๋ว ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาการบินไทยมีระบบเอเย่นต์จำหน่ายตั๋วเยอะมาก บางครั้งจะจองเพื่อบินกับการบินไทยแต่ปรากฏว่าตั๋วเต็ม แต่พอขึ้นเครื่องไปแล้วกลับพบว่ามีว่างจำนวนมาก โดยจะต้องนำระบบการจองตั๋วแบบออนไลน์ มาใช้กับการบินไทยซึ่งโดยส่วนตัวตั้งเป้าอยากให้การบินไทยขึ้นไปอยู่ 3 อันดับแรกของสายการบินในทวีปเอเชีย เหมือนกับ สายการบินสิงค์โปร์ แอร์ไลน์และคาเธ่ย์ แปซิฟิค
นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ทุกคนมีความฝันด้วยกันทั้งนั้น เรามีความฝันร่วมกัน วันนี้เราจะตื่นขึ้นมาเพื่อที่จะทำให้ความฝันเป็นจริง