กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.วิจักขณ์ ตารมย์ รอง ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.ฐากิจจ์ โตเกียรติชูกรณ์ รอง ผบก.ปอศ.
เจ้าหน้าที่ชุดปฎิบัติการ นำโดย พ.ต.อ.กริช วรทัต ผกก.4 บก.ปอศ., พ.ต.ท.วีระศักดิ์ ติระพัฒน์ รอง ผกก.4 บก.ปอศ., พ.ต.ท.สมชาย ศรพล รอง ผกก.4 บก.ปอศ., พ.ต.ท.จำนาญ จันทร์เทศ รอง ผกก.4 บก.ปอศ. พ.ต.ท.รุตินันท์ สัตยาชัย สว.กก.4 บก.ปอศ., พ.ต.ท.เชาว์นวุฒิ เลียบมา สว.กก.4 บก.ปอศ., พ.ต.ท.สาธิต หาวงษ์ชัย สว.กก.4 บก.ปอศ. พ.ต.ต.วรวุฒิ คงรักษา สว.กก.4 บก.ปอศ., พ.ต.ต.ไตรรงค์ หน่วยตุ้ย สว.ประจำ บก.ปอศ. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปอศ.
ได้ดำเนินคดี ผู้ต้องหา จำนวน 231 ราย
1.ในฐานะนิติบุคคล จำนวน 96 ราย
2.ในฐานะบุคคล จำนวน 135 ราย จำแนกเป็น
2.1.ผู้ต้องหาชาวต่างชาติ จำนวน 98 ราย ประกอบด้วย ชาวรัสเซีย 67 ราย, ชาวจีน 4 ราย, ชาวยูเครน 3 ราย, ชาวอินเดีย 3 ราย และสัญชาติอื่นๆ อีก 21 ราย
2.2.ผู้ต้องหาชาวไทย จำนวน 37 ราย
ฐานความผิด “คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย, คนต่างด้าวยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่คนต่างด้าวให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ ) โดยคนต่างด้าวนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว” ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และฐานความผิด “ผู้มีสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่คนต่างด้าว ร่วมกันให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุน หรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้โดยคนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตนแต่ผู้เดียว หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยง หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ฯ” ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สถานที่ตรวจค้น
1.บริษัทรับทำบัญชี ในพื้นที่ หมู่ที่ 6 ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นที่ตั้งจดทะเบียนของบริษัทรวม 35 บริษัท
2.บริษัทซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ในพื้นที่ หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นที่ตั้งจดทะเบียนของบริษัทรวม 12 บริษัท
3.บริษัทซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ในพื้นที่ หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นที่ตั้งจดทะเบียนของบริษัทรวม 10 บริษัท
4.บริษัทซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ในพื้นที่ หมู่ที่ 2 ต.เกาะแก้ว อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นที่ตั้งจดทะเบียนของบริษัทรวม 3 บริษัท
ของกลางตรวจยึดจำนวน 9 รายการ
- สมุดบัญชีธนาคาร 225 เล่ม พบยอดเงินหมุนเวียนสำหรับจัดตั้งบริษัท 318,967,824.43 บาท
- เอกสารการถือครองที่ดิน จำนวน 245 รายการ จำแนกเป็น
2.1 ห้องชุด จำนวน 196 ห้อง เนื้อที่รวมประมาณ 10,500 ตร.ม. ราคาประเมินประมาณ 1,000 ล้านบาท
2.2 โฉนดที่ดิน 43 แปลง เนื้อที่รวม 24 ไร่ ราคาประเมินไม่รวมสิ่งปลูกสร้างประมาณ 200 ล้านบาท
3.หนังสือเดินทาง 196 เล่ม - เอกสารWork permit 108 เล่ม
- ข้อมูลการจัดตั้งบริษัท 800 บริษัท
- ตราประทับบริษัทต่างๆ 1,601 อัน
- ป้ายบริษัท 13 ป้าย
8.อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 4 เครื่อง
9.เอกสารเกี่ยวกับบริษัท จำนวนหลายรายการ
รวมมูลค่า ของกลางที่ตรวจยึดได้กว่า 1,500 ล้านบาท
พฤติการณ์
เนื่องจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้มีการร้องเรียนว่ามีชาวต่างชาติมาประกอบธุรกิจ และกว้านซื้อที่อยู่อาศัย จนทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือนร้อน
นายกรัฐมนตรีจึงมีนโยบายให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบตามเรื่องที่ประชาชนได้ร้องเรียน และให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ทำให้มูลค่าที่อยู่อาศัยมีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง และเข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง
พลตำรวจโทจิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จึงสั่งการให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายดังกล่าว ข้อมูลจาก ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลกลาง กองบัญชาการตรวจสอบสวนกลาง (CIB DATA CENTER) ซึ่งได้ทำความร่วมมือเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐจำนวนมาก อาทิเช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.), กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กรมที่ดิน ฯลฯ
จากตรวจสอบพบว่า ตั้งแต่ห้วงปี 2562 จนถึงเดือนมีนาคม 2567 มีชาวรัสเซียเดินทางเข้ามาใน จ.ภูเก็ต สูงถึง 92,764 ราย คิดเป็น 81% เมื่อเทียบกับชาวรัสเซียที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะแค่ในห้วงปี 2567 (ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2567) มีชาวรัสเซียเดินทางเข้ามาในภูเก็ตจำนวนถึง 59,717 ราย
พบว่ามีชาวรัสเซียจดทะเบียนบริษัทในห้วงปี 2566 จนถึงปัจจุบัน เพิ่มสูงจำนวนถึง 1,603 บริษัท ซึ่งถือว่าสูงขึ้นกว่าในห้วงปี 2559-2565 ถึง 50 เท่าตัว โดยในช่วงนั้น มีชาวรัสเซียยื่นจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทในพื้นที่ภูเก็ตเฉลี่ยไม่เกิน 30 บริษัทต่อปีเท่านั้น
และจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบชาวต่างชาติสัญชาติรัสเซีย ชื่อ นางยาน่า ขอสงวนนามสกุล (Mrs. IANA) อายุ 45 ปี เดินทางเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับครอบครัว เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2555 โดยมีชื่อเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นร่วมกับคนไทยในสัดส่วนที่น่าสงสัย จำนวนถึง 9 บริษัท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนสูงสุดลำดับที่ 1 ของชาวต่างชาติเข้ามาร่วมถือหุ้นกับคนไทยในพื้นที่ จ.ภูเก็ต โดยแยกเป็นประเภทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 7 บริษัท, ประเภทบริการ จำนวน 1 บริษัท และ ประเภทนำเที่ยว 1 บริษัท รวมทุนจดทะเบียน 38 ล้านบาท ตรวจสอบพบการถือครองอสังหาริมทรัพย์ เป็นโครงการคอนโดมิเนียม และอพาร์ทเม้นหรูในจังหวัดภูเก็ต ถึง 3 โครงการ จำนวน 176 ห้อง พื้นที่รวม 8,480.14 ตร.ม. รมูลค่าราคาประเมินกว่า 900 ล้านบาท
และจากการตรวจสอบคนไทยรายหนึ่งซึ่งน่าเชื่อว่าให้การช่วยเหลือและสนับสนุน คือ น.ส.ตรีทิพ ขอสงวนนามสกุล เข้ามาถือหุ้นร่วมกับนางยาน่าฯ จึงได้ทำการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า น.ส.ตรีทิพฯ มีรายชื่อเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นถึง 272 บริษัท แยกเป็นบริษัทที่คนไทยถือหุ้นล้วน 142 บริษัท และบริษัทที่มีชาวต่างชาติถือหุ้นร่วมอยู่ด้วยจำนวน 130 บริษัท รวมมูลค่าหุ้นที่ น.ส.ตรีทิพฯ ถืออยู่มีมูลค่าสูงถึง 268,300,863 บาท จากพฤติการณ์ต้องสงสัยดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จึงได้ลงพื้นที่เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานพิสูจน์ทราบการประกอบธุรกิจของกลุ่มบุคคลดังกล่าว
ต่อเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จำนวนกว่า 50 นาย ลงพื้นที่ตรวจค้นสำนักงานบัญชีของนางสาวตรีทิพฯ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
ผลการตรวจค้นพบพยานหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องในการจดทะเบียนบริษัทของบุคคลต่างชาติเป็นจำนวน หลายรายการ โดยพบของกลางที่น่าสนใจคือ สมุดบัญชีที่เปิดในนามนิติบุคคล จำนวน 225 เล่ม พบยอดเงินหมุนเวียนสำหรับจัดตั้งบริษัท 318,967,824.43 บาท, ตราประทับบริษัทต่างๆ และเอกสารการถือครองอสังหาริมทรัพย์ จำนวนหลายรายการ
โดยบริษัทของ น.ส.ตรีทิพฯ ก่อตั้งเมื่อ 13 มิถุนายน 2559 ประกอบธุรกิจรับทำบัญชี และจดจัดตั้งบริษัทให้กับชาวต่างชาติ มีพนักงานจำนวน 22 คน โดย น.ส.ตรีทิพฯ ใช้ชื่อของตนเอง และกลุ่มเครือญาติของตน และลูกจ้างของบริษัทเข้าไปถือหุ้นร่วมกับชาวต่างชาติในสัดส่วนของคนไทยเพื่อหลบหลีกข้อกฎหมาย เบื้องต้นตรวจพบความเชื่อมโยงถึง 272 บริษัท โดยมีบริษัทจำนวน 130 บริษัท มีลักษณะเป็นบริษัทนอมินีของชาวต่างชาติ จำแนกเป็นธุรกิจประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่มีลักษณะเป็นการค้าที่ดิน, ท่องเที่ยว, ธุรกิจบริการและธุรกิจประเภทอื่นๆ มีทุนจดทะเบียนรวมกัน 679,000,000 บาท
นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบว่า น.ส.ตรีทิพฯ ได้จดทะเบียนบริษัทที่มีเฉพาะคนไทยถือหุ้นอีกจำนวน 141 บริษัทโดยไม่มีการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด แต่เปิดไว้เพื่อใช้ในการขอวีซ่าธุรกิจ (Non B Visa) ใบอนุญาตทำงาน (work permit) และใช้ในการยื่นขอเปิดบัญชีธนาคาร โดยพบว่ามีการยื่นขอใบอนุญาตทำงานให้กับชาวต่างชาติและตรวจสอบพบชาวต่างชาติ 5 ราย เปิดบัญชีธนาคารเพื่อใช้ในการหลอกลวงคนไทยให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ผ่าน ระบบรับแจ้งความออนไลน์ (Thai police online) ไว้แล้วก่อนหน้านี้
จากการสอบสวนขยายผล รวบรวมพยานหลักฐาน ทำให้สามารถดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้ทั้งหมด จำนวน 231 ราย เป็นการดำเนินคดีในฐานะนิติบุคคล จำนวน 96 ราย,ในฐานะบุคคล จำนวน 135 ราย จำแนกเป็น ผู้ต้องหาชาวต่างชาติที่ประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 98 ราย เป็นผู้ต้องหาชาวรัสเซีย 67 ราย , จีน 4 ราย, ยูเครน 3 ราย, อินเดีย 3 ราย, ปากีสถาน 3 ราย, เกาหลีใต้ 3 ราย, อิตาเลียน 2 ราย, สิงคโปร์ 2 ราย, ซีเรีย 2 ราย, เยอรมัน 2 ราย, ตุรกี 2 ราย, จอร์เจีย 1 ราย, อเมริกัน 1 ราย, คีร์กิซสถาน 1 ราย, สวิสเซอร์แลนด์ 1 ราย, เบลาลุส 1 ราย และผู้ต้องหาชาวไทยที่ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 37 ราย
โดยพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาชาวต่างชาติ เพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหาแล้วจำนวน 85 ราย โดยในวันนี้ ( 31 พ.ค.2567 ) มีผู้ต้องหาชาวต่างชาติเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางแล้ว ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือจะได้เรียกมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
และจากการตรวจสอบพบว่ามี 24 บริษัท มีการถือครองอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 245 รายการ จำแนกเป็นห้องชุด จำนวน 196 ห้อง เนื้อที่รวมประมาณ 10,500 ตารางเมตร โฉนดที่ดิน จำนวน 43 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 24 ไร่ ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง ราคาประเมินกว่า 1,200 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ดำเนินการสอบสวนขยายผลเพิ่มเติมถึงประเด็นการได้มา หากตรวจสอบพบว่าคนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าว ถือเป็นความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จฯ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ ป.อาญา ม.267 และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 111-113 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยในส่วนของที่ดินที่ต่างด้าวได้มาโดยผิดกฎหมาย จะต้องเข้าสู่มาตรการบังคับให้จำหน่ายที่ดิน ภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด ซึ่งไม่น้อยกว่า 180 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีกรมที่ดินที่อำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พ.ต.อ.กริช วรทัต ผกก.4 บก.ปอศ. เบอร์ติดต่อ 0880275757