กสม. ชี้กรณีนายทะเบียนอำเภอเมืองตราดปฏิเสธการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะกรมการปกครองแก้ไขและทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ – กสม. เผยผลการศึกษากรณีช้างป่ารุกแหล่งชุมชนส่งผลกระทบด้านสิทธิฯ แนะหน่วยงานพื้นที่บูรณาการจัดการความเสียหายและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นระบบ
วันที่ 7 มิถุนายน 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 19/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
- กสม. ชี้กรณีนายทะเบียนอำเภอเมืองตราดปฏิเสธการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ส่งผลให้เข้าไม่ถึงสวัสดิการตามกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะกรมการปกครองแก้ไขและทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ระบุว่า เมื่อปี 2551 ผู้ร้องได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน กลุ่มคนไร้รากเหง้า ต่อมาปี 2565 ผู้ร้องได้ยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. 20/1) ตามมาตรา 20/1 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต่อนายทะเบียนอำเภอเมืองตราด (ผู้ถูกร้อง) เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นคำขอมีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยผู้ถูกร้องได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบคำขอและสอบปากคำพยานบุคคลแล้วเห็นว่า ผู้ร้องไม่ใช่กลุ่มคนไร้รากเหง้า จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตออกหนังสือรับรองการเกิดให้กับผู้ร้อง และมีคำสั่งจำหน่ายรายการทะเบียนของผู้ร้องออกจากฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร ส่งผลให้ผู้ร้องตกอยู่ในสถานะคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมายและนโยบายของรัฐ
เดือนธันวาคม 2566 กสม. ได้ประสานความช่วยเหลือไปยังนายทะเบียนอำเภอเมืองตราด (ผู้ถูกร้อง) เพื่อพิจารณาจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้แก่ผู้ร้องตามหน้าที่และอำนาจ และผู้ร้องได้ยื่นฟ้องผู้ถูกร้องและกรมการปกครองต่อศาลปกครองระยอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 154/2566 โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาตออกหนังสือรับรองการเกิดและให้มีคำสั่งอนุญาตออกหนังสือรับรองการเกิดให้แก่ผู้ร้อง แต่ผู้ถูกร้องยังไม่ได้ดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติให้แก่ผู้ร้อง ส่งผลให้ผู้ร้องยังอยู่ในสถานะคนไร้รัฐไร้สัญชาติ
กสม. ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ตรวจสอบ โดยพิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ประกอบกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รับรองว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายในทุกแห่งหน และพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 38 วรรคสอง มีหลักว่า ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่น นอกจากที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยกรมการปกครองได้มีหนังสือแจ้งเวียนแนวปฏิบัติและขั้นตอนการดำเนินการแล้ว ตามหนังสือสำนักทะเบียนกลาง ด่วนที่สุด ที่ มท 0309.8/ว 156 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2563
จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้ยื่นฟ้องผู้ถูกร้องและกรมการปกครองเป็นคดีต่อศาลปกครองระยอง โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันผู้ร้องยังอยู่ในสถานะคนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงตัว และไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล
กสม. เห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนปฏิเสธการรับคำร้องขอจัดทำทะเบียนประวัติตามมาตรา 38 วรรคสอง ให้กับผู้ร้องโดยไม่ดำเนินการตามขั้นตอนแนวทางที่กรมการปกครองกำหนด และไม่ชี้แจงเหตุผลตามกฎหมายให้ผู้ร้องทราบโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร อันเป็นผลให้ผู้ร้องไม่อาจใช้สิทธิในการชี้แจงเหตุผลหรืออุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกฎหมาย เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล เสรีภาพในการเดินทางและการประกอบอาชีพ เป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 จึงมีมติให้สำนักทะเบียนอำเภอเมืองตราดเร่งรัดพิจารณาแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลให้แก่ผู้ร้องตามหน้าที่และอำนาจที่กฎหมายกำหนด และให้กรมการปกครองสื่อสารทำความเข้าใจกับสำนักทะเบียนทั่วประเทศและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ในสังกัด เกี่ยวกับแนวนโยบาย กฎหมาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล รวมถึงเร่งแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ประสบปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยอาจดำเนินการรูปแบบต่าง ๆ เช่น การออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ และการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง