วันศุกร์, มิถุนายน 28, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีน“สรสินธุ” มอง 49 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน มั่นคง เชื่อมต่อ แน่นแฟ้น ยึดมั่นหลักการ “จีนเดียว”  

Related Posts

“สรสินธุ” มอง 49 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน มั่นคง เชื่อมต่อ แน่นแฟ้น ยึดมั่นหลักการ “จีนเดียว”  

“สรสินธุ” ชี้ไทยยึดมั่นรับรองจีนเดียวตลอด 49 ปี มีผลสัมพันธ์แน่นแฟ้น  ปมปัญหาขาดดุลการค้าเลี่ยงไม่ได้-แข่งไม่ไหว แต่ต้องมุ่งพัฒนาเกษตรกรรม ทุ่มเทพัฒนาระบบชลประทาน   แนะอย่าทำตัวเล็ก ปีหน้ากล้าๆ คุยรัฐบาลจีน 

นายสรสินธุ ไตรจักรภพ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน  กล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน ในช่วงครบรอบ 49 ปีว่า  ในทางการเมืองคือการที่ประเทศไทย แสดงการยึดมั่นในหลักการ “จีนเดียว”  เช่นเดียวกับที่สหประชาชาติ ให้การรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน ในเวทีการทูตมาตั้งแต่ค.ศ.1971 (พ.ศ.2514) ส่วนในภาพเศรษฐกิจและสังคมนั้น ด้วยพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทย-จีน นับแต่โบราณ ช่วง49ปี คือการร่วมสร้างกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มพูนความสัมพันธ์ของสองประเทศ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

“ตัวเลขไทยขาดดุลจีนมากถึง 1.3 ล้านล้านบาทนั้น คงต้องตรวจสอบดูในรายละเอียดว่า เป็นการนำเข้าเพื่อส่งออกต่อหรือไม่แค่ไหน มีการนำเข้ามาแปรรูป และทำเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อหลีกเลี่ยงนโยบายกีดกันสินค้าจีน หรืออีกส่วนหนึ่งนำเข้า เพื่อขายต่อเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน และก็ยังมีสินค้าที่ไม่สำแดงอีกมากมาย” นายสรสินธุ กล่าว     

อย่างไรก็ตาม มาถึงปัจจุบัน มีการยกปัญหาไทยขาดดุลการค้ากับจีนจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหลังจากจีนเปิดประเทศ จีนได้พัฒนาตัวเองเป็นโรงงานของโลก การค้าของจีนขยายตัวมากขึ้น คนจีนรุกออกค้าขายลงทุนทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันไทยคือหนึ่งในเป้าหมายในภูมิภาคอาเซียน   ขณะที่สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ มีผลให้สินค้าจีนที่เจออุปสรรคในหลายพื้นที่ ถูกเทมายังตลาดอาเซียนมากขึ้นด้วย

นายสรสินธุกล่าวต่อว่า ไทยจะไปคิดแข่งขันกับจีน สหรัฐอเมริกา หรือยุโรปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะไทยขาดการพัฒนาทางเทคโนโลยี หรือการสร้างสรรค์นวัตกรรมของตนเอง อุตสาหกรรมการผลิตในปัจจุบัน กำลังจะกลายเป็นของตกยุค หรือล้าสมัย ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก

รองประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า ทิศทางของไทยคือด้านเกษตรกรรม ต้องพัฒนาด้านชลประทาน แก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม สร้างนวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต แปรรูปผลผลิต   สร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะตำแหน่งของประเทศไทย คือความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ขณะที่ประชากรโลก มีแต่เพิ่มขึ้น และอาหารคือผลผลิตที่ทั่วโลกต้องการอย่างตลอดกาล

“ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนไม่ลำบาก ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือที่เรียกว่าต้มยำกุ้ง เวลานั้นที่เกาหลีใต้มีคนกระโดดตึกฆ่าตัวตายหลายราย แต่คนไทยแค่กลับบ้านไปทำการเกษตรก็ไม่อดตาย เอาชีวิตรอดได้และกลับมาใหม่ นี่คือจุดแข็งของไทยที่ต้องพัฒนา หรือดูอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ว่าเป็นชาติอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่ก็ยังเน้นการผลิตธัญพืช ส่งถั่วเหลืองไปขายจีน ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อไปใช้ในวงการปศุสัตว์” นายสรสินธุ กล่าว

นายสรสินธุ กล่าวอีกว่า จีนมีแผ่นดินกว้างใหญ่ แต่ไม่ใช่อุดมสมบูรณ์ทั้งประเทศแบบไทย จีนมีพื้นที่ทะเลทราย มีปัญหาความแห้งแล้ง เกิดอุทกภัยทุกปี รัฐบาลจีนมีแผนระยะยาว ทุ่มเทงบประมาณพัฒนาระบบชลประทานต่อเนื่อง จนสามารถลดพื้นที่ทะเลทราย เพิ่มพื้นที่สีเขียว แก้ภัยแล้ง ลดความรุนแรงจากอุทกภัย เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรน้ำ เพื่อการเกษตรเพิ่มผลผลิต

ในปี 2565 จีนสร้างสถิติ ลงทุนก่อสร้างโครงการชลประทานมากกว่า 7แสนล้านหยวน (ประมาณ 3.7 ล้านล้านบาท) สร้างเขตกักเก็บน้ำ ระบบระบายน้ำหลาก ระบบป้องกันน้ำท่วม ผันน้ำจากใต้สู่เหนือ  ตอนกลางและตะวันตก ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรน้ำ ในแม่น้ำสายสำคัญของประเทศ ขณะที่ประเทศไทยผ่านมหาอุทกภัยปี 2554 ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลมาแล้ว แต่มาถึงวันนี้ ไทยมีเพียงแผนเฉพาะหน้าแก้ปัญหาฝนแล้งน้ำท่วมในแต่ละปีเท่านั้น

นายสรสินธุ กล่าวในตอนท้ายว่า ปีหน้า 2568 ถือเป็นวาระสำคัญฉลอง 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน  ประเทศไทยแม้จะมีขนาดพื้นที่เล็กกว่าจีนมาก ขนาดเศรษฐกิจก็ห่างไกลจีน แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ควรทำตัวเล็กเกินไป ควรจะถือโอกาสวาระสำคัญ คุยกับรัฐบาลจีนในเรื่องต่างๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองของเรา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts