เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567 ตามเวลาท้องถิ่น การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจีน-อาเซียน เปิดฉากขึ้นที่กรุงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว เป็นการประชุมระหว่าง รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน กับคู่เจรจารวมทั้งหมด 9 ประเทศ และ 1 องค์กร ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ซึ่ง หวัง อี้ กรรมการกรมการเมือง คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เป็นประธานร่วมกับผู้แทนประเทศ ประสานงานความสัมพันธ์จีน-อาเซียน
หวัง อี้ กล่าวว่า จีนและอาเซียน เป็นเพื่อนบ้านที่เป็นมิตร เฝ้าระวังและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นหุ้นส่วนใกล้ชิดบนเรือลําเดียวกัน เป็นประชาคมร่วมทุกข์ ร่วมสุข การสร้างชะตากรรมร่วมจีน-อาเซียน ดำเนินไปอย่างมั่นคง และประสบความสำเร็จมากมาย เป็นประโยชน์ต่อประชาชน 2 พันล้านคน ของทั้งสองภูมิภาค
จีน-อาเซียน ส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักการ “จิตวิญญาณบันดุง” และ “วิถีอาเซียน” ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างสองประเทศ นับวันจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เกิดแรงผลักดันใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมเต็มคณะ ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 20 ครั้งที่ 3 ได้ให้ความสำคัญกับการนําโอกาสใหม่ มาสู่ประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างอาเซียน โดยจีนยินดีแบ่งปันโอกาสของตน กับประเทศในอาเซียน สนับสนุนให้ทุกประเทศก้าวไปบนหนทางแห่งความสำเร็จ และความทันสมัย ที่สอดคล้องกับสภาพของประเทศ และลักษณะทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของตนเอง
หวัง อี้ ชี้ว่า ความร่วมมือจีน-อาเซียน ดำเนินมาเป็นเวลากว่า 33 ปี ขยายสู่ความร่วมมือระดับเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีผลลัพธ์และแบบอย่างของความมีชีวิตชีวามากที่สุด โดยมีประสบการณ์สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1.ยึดมั่นในความเป็นมิตรและเพื่อนบ้านที่ดี 2.ยึดมั่นในการปฏิบัติต่อกันด้วยความจริงใจ 3.ยึดมั่นในการพัฒนาร่วมกัน และ 4.ยึดมั่นในการเปิดกว้างและความอดทน โดยจีนจะยังคงสนับสนุนเอกราชทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน อย่างแน่วแน่ สนับสนุนการเสริมสร้างอาเซียน เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยุคใหม่ บรรลุความเชื่อมโยงในระดับสูง และสร้างแรงผลักดันใหม่ กับชะตากรรมร่วมจีน-อาเซียน ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
หวัง อี้ ยังได้พบปะพูดคุยนอกรอบกับ เซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.กระทรวงต่างประเทศรัสเซีย โดยมีความกังวลเกี่ยวกับ ความพยายามจัดตั้ง “พันธมิตรขนาดเล็ก” ของบางประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ โดยใช้กลไกทางทหารและการเมืองควบคู่กัน เพื่อบ่อนทำลายความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก