สีจิ้นผิง เปรียบเปรย การขาดแคลนความสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมอันแข็งแกร่ง เป็น “จุดอ่อน” ของยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างจีน และชี้ว่า “มีเพียงนักปฏิรูปเท่านั้น ที่ก้าวหน้า นักสร้างสรรค์เท่านั้น ที่รุ่งเรือง และผู้ที่ปฏิรูปและสร้างสรรค์ จะคว้าชัยชนะ”
การปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้การชี้นำของสีจิ้นผิง ก้าวหน้าอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มีการใช้ประโยชน์จากระบบใหม่ ในการระดมทรัพยากรทั่วประเทศ มาเกื้อหนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญ จัดตั้งห้องปฏิบัติการระดับชาติชุดแรก และเสริมสร้างบทบาทของผู้ประกอบการ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม
ผลลัพธ์จากการปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนั้น ปรากฏชัดเจน โดยอันดับของจีนในดัชนีนวัตกรรมโลก (GII) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ก้าวกระโดดจากอันดับ 34 ในปี 2012 เป็นอันดับ 12 ในปี 2023
ข้อมูลในปี 2023 ระบุว่า จีนแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นประเทศอันดับหนึ่ง ที่มีส่วนส่งเสริมการเผยแพร่บทความวิจัย ในกลุ่มวารสารวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ที่มีคุณภาพสูงของเนเจอร์ อินเด็กซ์ (Nature Index) เป็นครั้งแรกในปี 2022
แม้เผชิญการกดขี่ และคว่ำบาตรด้านชิปจากสหรัฐฯ หลายปี แต่ยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของจีน อย่างหัวเหวย (Huawei) สามารถเปิดตัวสมาร์ตโฟนระดับไฮเอนด์ หลายรุ่นในปี 2023 ซึ่งหลายฝ่ายมองเป็นบทพิสูจน์ว่า ความพยายามของประเทศตะวันตกบางส่วน ที่หวังจำกัดควบคุมภาคเทคโนโลยีของจีนนั้นแทบไม่ได้ผล
อย่างไรก็ดี มีงานอีกมากมายที่ต้องทำให้สำเร็จลุล่วง สีจิ้นผิง เตือนว่า “การวิจัยพื้นฐาน เป็นแหล่งที่มาของการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทางวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี แม้จีนได้สร้างความก้าวหน้าสำคัญ ในการวิจัยพื้นฐาน แต่ยังคงห่างชั้นจากการวิจัยขั้นสูง ในระดับนานาชาติอย่างชัดเจน
สีจิ้นผิง เรียกร้องการปฏิรูปเชิงระบบเพิ่มเติม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง แก่การวิจัยพื้นฐาน รวมถึงสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมตั้งต้น และเร่งรัดการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์ ล้ำสมัย และสร้างความเปลี่ยนแปลง
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ : ซินหัว