การพบกันระหว่าง หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน กับ สุพรหมัณยัม ชัยศังกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอินเดีย ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อวันพฤหัสบดี (25 ก.ค.) ทั้งสองประเทศหวังจัดการกับความขัดแย้งอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งพัฒนาความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อกัน
หากจีนและอินเดียเดินไปในทิศทางเดียวกัน จะสร้างพลังขั้วโลกใหม่ ด้วยประชากรสองประเทศรวมกันเท่ากับ 35% ของโลก ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) เท่ากับ 21.5% ของโลก ทำให้มีอำนาจในการตัดสินใจ และดำเนินการใดๆ ได้อย่างอิสระเสรี ไม่ต้องกังวลเรื่องแรงกดดัน
ท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ซับซ้อน และความท้าทายระดับโลกที่รุนแรงในปัจจุบัน จีนและอินเดีย ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน เป็นทั้งประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ และเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่สำคัญ หวังกระชับความสัมพันธ์ผ่านการพูดคุยและการสื่อสาร เสริมสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
อินเดียและจีน มีผลประโยชน์ที่เกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง ในหลายด้าน แม้ทั้งสองประเทศกำลังเผชิญกับปัญหา ที่เกิดจากสถานการณ์ชายแดนอยู่ก็ตาม แต่อินเดียมีความตั้งใจ ที่จะหาทางออกสำหรับความขัดแย้งต่าง ๆ ด้วยวิสัยทัศน์ทางประวัติศาสตร์ การคิดเชิงกลยุทธ์ และทัศนคติที่เปิดกว้าง เพื่อนำความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ กลับคืนสู่เส้นทางที่ดีและสร้างสรรค์
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกัน รักษาสันติภาพในพื้นที่ชายแดน และผลักดันให้เกิดความคืบหน้าใหม่ ในรูปแบบ “พบกันครึ่งทาง” ด้วยจิตสำนึกที่จะก้าวข้ามความแตกต่าง และความขัดแย้ง ร่วมกันหาวิธีที่เหมาะสม ในการอยู่ร่วมกันระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านขนาดใหญ่ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ที่เกินกว่าขอบเขตทวิภาคี
ความได้เปรียบของทั้งสองฝ่าย ที่จะหันหน้าหากันคือ ทั้งคู่ต่างมีการสื่อสารภายใน ผ่านกรอบความร่วมมือเอเชียตะวันออก, องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้, กลุ่ม G20, กลุ่ม BRICS และกรอบอื่น ๆ อยู่แล้ว จึงสามารถร่วมกันปฏิบัติตามระบบพหุภาคีนิยม ปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ โดยชอบธรรมของประเทศกำลังพัฒนา
หวัง ระบุว่า “ความสัมพันธ์จีน-อินเดียกลับมาอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายและเป็นความคาดหวังร่วมกันของประเทศต่าง ๆ ในซีกโลกใต้”
อินเดียและจีน เป็นสองประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นสองประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ เป็นสองอารยธรรมโบราณ ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน การรักษาความสัมพันธ์ทวิภาคีให้พัฒนาอย่างมั่นคง มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการรักษาสันติภาพในภูมิภาคและการส่งเสริมระบบโลกแบบหลายขั้วอำนาจ