“…* จาก “หมูเถื่อน”…ถึงปลาหมอคางดำ*เรายังไว้ใจนักการเมือง-ขรก.-นายทุนขี้ฉ้อกันได้อีกหรือ ? ขอโทษ! ขนาดกรณีนำเข้า”หมูเถื่อน”ที่จับได้คาหนังคาเขา มีหลักฐานเต็มตู้คอนเทนเนอร์เต็มโกดัง ขยายผลออกไปยังกวาดจับเนื้อหมูเถื่อนแช่แข็งเต็มโกดังอีกไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนตัน จับผู้ร่วมขบวนการนำเข้า สำแดงเท็จ บัญชีส่วยจนกระทั่งแม้แต่เส้นทางการกระจายหมูเถื่อนขึ้นไปขายบนหิ้งบนห้างค้าปลีก ค้าส่งยักษ์ ทุกอย่างล้วนอยู่ในมือเจ้าหน้าที่ตำรวจและดีเอสไอ แต่จนแล้วจนรอดผ่านไปกว่า 3 ปีมาแล้วนี้มีใครเคยเห็นว่าผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนที่ทำลายอุตสาหกรรมหมูของประเทศจนพินาศย่อยยับไปก่อนหน้านั้นถูกลงโทษอย่าง “สมสม” เป็นรูปธรรมสักคน สอบสวนกันมานานเกือบ 2 ปี ได้หลักฐานมากมายทั้งเอกสารการนำเข้า เอกสารที่สำแดงเท็จ ชื่อบริษัทนำเข้าและชิปปิ้ง พร้อม หลักฐานยังไม่เพียงพอต่อการดำเนินคดีอีกหรือ? ทำไมต้องเดินทางไปตรวจสอบหลักฐานที่ประเทศต้นทางส่งออกหมูเถื่อน ทั้งที่หลักฐานที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรมีเพียง 10% ของความผิด ขณะที่อีก 90% เกิดขึ้นในประเทศไทย ”หมูเถื่อน”ที่มีหลักฐานจับได้คาหนังคาเขา ยังเอาผิด””หมาแมวสักตัว”ยังไม่ได้เลยจนป่านนี้ แล้วกรณี “ปลาหมอคางดำ” ที่ “บริษัทภิบาล” 4 ปีซ้อนประกาศอยุ่โทนโท่ว่า “ไม่รู้ ไม่เห็น (และ)ไม่เกี่ยวข้อง” จะไปเอาผืดอะไรฯพณฯท่านได้ เอวังด้วยประการฉะนี้!!! *…”
จาก “หมูเถื่อน”…ถึงปลาหมอคางดำ
เรายังไว้ใจนักการเมือง-ขรก.-นายทุนขี้ฉ้อกันได้อีกหรือ ?
คนไทยเราจะหวังพึ่งอะไรได้อีก ทั้งนักการเมือง-ข้าราชการ-และนายทุน “ขี้ฉ้อ” จะหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมรึ วันวานก็เพิ่งปรากฏข่าว “อัยการขี้ฉ้อ” 1 ในกลไกของกระบวนยุติธรรมเพิ่งถูก จนท.ตำรวจบุกรวบตัวคาสำนักงานโทษฐานเรียกรับ “สินบน” ในคดีกระจอกงอกง่อยแค่กรณีพิพาทเรื่องโฉนดที่ดินยังเรียกรับกันได้เป็นแสน ….
แล้วกรณีหมูเถื่อน- ปลาหมอคางดำที่ว่านี้ จะไม่ยิ่งกว่านี้หรือ???
คงจะเป็น “ความหวังเดียว”ของประชาชนคนไทยที่พอจะพึ่งพิงได้ กรณีที่สภาทนายความออกโรงและออกหน้าจะยื่นฟ้องกราวรูดบริษัทเอกชนผู้นำเข้า “ปลาหมอคางดำ” ที่ทำลายและสร้างหายนะให้แก่อุตสาหกรรมสัตว์น้ำของไทยจนพินาศย่อยยับ
ทำลายวิถีชีวิตของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งหลายในหลายสิบจังหวัดให้ต้องอยู่อย่างข้นแค้น ประเทศต้องสูญเสียโอกาสสูญเสียรายได้ไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนล้าน!
โดยสภาทนายความประกาศกร้าวจะดำเนินการฟ้องคดีแพ่งเอากับบริษัทเอกชนผู้ขอนำเข้าที่ถือเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดเพื่อให้ชดเชยความเสียหายจากการขาดรายได้ที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำใน 16 จังหวัดที่เป็นแหล่งแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ว่านี้ รวมทั้งยังจะยื่นฟ้องคดีปกครองกรมประมงที่ปล่อยปละละเลยให้บริษัทเอกชนผู้นำเข้าดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศ และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต โดยที่ไม่สามารถจะจับมือใครดมได้
ในส่วนของรัฐบาล แม้ล่าสุดนี้ รมว.กระทรวงเกษตรและรัฐบาลจะประกาศ 7 มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำเป็น “วาระแห่งชาติ” แต่ในความรู้สึกของผู้คนโดยทั่วไปนั้น กล่าวได้ว่าแทบไม่ได้ให้ความสลักสำคัญกับมาตรการปราบปรามการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ว่านี้แม้แต่น้อย
ขอโทษ! ขนาดกรณีนำเข้า “หมูเถื่อน” ที่จับได้คาหนังคาเขา มีหลักฐานเต็มตู้คอนเทนเนอร์เต็มโกดัง ขยายผลออกไปยังกวาดจับเนื้อหมูเถื่อนแช่แข็งเต็มโกดังอีกไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนตัน จับผู้ร่วมขบวนการนำเข้า สำแดงเท็จ บัญชีส่วยจนกระทั่งแม้แต่เส้นทางการกระจายหมูเถื่อนขึ้นไปขายบนหิ้งบนห้างค้าปลีก ค้าส่งยักษ์ ทุกอย่างล้วนอยู่ในมือเจ้าหน้าที่ตำรวจและดีเอสไอ
แต่จนแล้วจนรอดผ่านไปกว่า 3 ปีมาแล้วนี้มีใครเคยเห็นว่าผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนที่ทำลายอุตสาหกรรมหมูของประเทศจนพินาศย่อยยับไปก่อนหน้านั้นถูกลงโทษอย่าง “สมสม”เป็นรูปธรรมสักคนหรือยัง?
ขอโทษ!ไม่มีเลย! หมูหมากาไก่หรือแมวสักตัว ยังไม่มีเลย!!!
กว่า3 ปีนับตั้งแต่มีการ “เปิดข่าว” การจับกุม “หมูเถื่อน” คาตู้คอนเทนเนอร์ 161 ตู้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนขยายผลไปสู่ขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง ทลายจุดกระจายหมูเถื่อนไปยังโกดัง-ห้องเย็นต่าง ๆ แม้กระทั่งมีการนำเอาหมูเถื่อนนำเข้าเหล่านี้ ที่เป็นซากหมูแช่แข็งและตับหมูขึ้นไปขายบนห้างค้าปลีกค้าส่งยักษ์ระดับบิ๊กบึ้มของประเทศ จนถึงขั้นที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ “ดีเอสไอ” นำกำลังบุกเข้าตรวจค้นสำนักงานใหญ่ของบริษัทที่เป็นถึงบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดำเนินการตรวจยึดเอกสารหลักฐานไปไม่รู้กี่ปึกต่อกี่ปึกเพื่อสอบสวนขยายผล
ก่อนที่วันรุ่งขึ้นตัวอธิบดีดีเอสไอเองจะถูก “เด้งเข้ากรุ” ด้วยข้ออ้างของใครต่อใครที่เกี่ยวข้องในเวลานั้นว่า เป็นไปตามระเบียบเป็นไปตามวาระและขั้นตอน (ซึ่งก็ไม่รู้เป็นระเบียบวาระอะไรของ “พ่องมัน”)
วันนี้คดีความในมือดีเอสไอ และชุดปราบปรามขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนสารพัดชุดที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรแต่งตั้งขึ้นในครั้งกระโน้น มีอะไรเป็นรูปธรรมออกมาบ้าง “ท่านนายกฯเศรษฐา” (ที่เขาว่าเราจะเป็นเศรษฐี) ซึ่งเป็นคนลุกขึ้นประกาศกร้าวจะเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนเหล่านี้ ไม่ลองสอบถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูปะไร
ความคืบหน้าการปราบปรามขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนที่ว่านี้ว่า “ลากยาว 3 ปี ไม่มีจุดจบ!” เพราะจนถึงขณะนี้การพิจารณาคดีที่ล่วงเลยมานานเกือบ 2 ปี นับแต่เริ่มจับกุมผู้นำเข้าและดำเนินคดีตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2565 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ยังไม่สามารถส่งฟ้องผู้ลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนได้แม้แต่รายเดียว ทั้งที่มีเอกสารและหลักฐานอยู่เต็มมือ
การปล่อยให้ผู้ต้องหาผลัดผ่อนให้ปากคำเพิ่มเติมครั้งแล้วครั้งเล่าแบบ “ไม่มีที่สิ้นสุด” ยิ่งทำให้การนำตัวผู้ต้องหาขึ้นสู่การพิพากษาของศาลยิ่งริบหรี่ไปเรื่อยๆ (แต่อย่าให้ความหวังในการลงโทษกลุ่มคนที่เชื่อมโยงในขบวนการหมูเถื่อนเป็นศูนย์เป็นอันขาด)
นอกจากนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า “คดีหมูเถื่อน” จะถูกพิจารณาเป็น “คดีนอกราชอาณาจักร” หรือ MLAT (Mutual Legal Assistance Treaty) วิธีการนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 1 ปีในการเดินทางไปรวบรวมหลักฐานจากต้นทางประเทศส่งออกหมูเถื่อน 7 ประเทศ อาทิ บราซิล อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน เป็นต้น เบื้องต้น DSI ได้มีการหารือกับเจ้าหน้าที่สถานทูตบราซิลประจำประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว และในขั้นตอนนี้มีอัยการเป็นผู้นำทีมในการดำเนินการ
การดำเนินคดีล่าช้า จนไม่สามารถส่งฟ้องผู้ต้องหาได้ และยังนำแนวทางคดีนอกราชอาณาจักรมาใช้ ยิ่งทำให้ผู้เลี้ยงและคนที่สนใจคดีนี้ตั้งคำถาม เหตุใดคดีหมูเถื่อนจึงลากยาว เอาผิดกับผู้ต้องหาไม่ได้สักที?
สอบสวนกันมานานเกือบ 2 ปี ได้หลักฐานมากมายทั้งเอกสารการนำเข้า เอกสารที่สำแดงเท็จ ชื่อบริษัทนำเข้าและชิปปิ้ง พร้อม หลักฐานยังไม่เพียงพอต่อการดำเนินคดีอีกหรือ?
ทำไมต้องเดินทางไปตรวจสอบหลักฐานที่ประเทศต้นทางส่งออกหมูเถื่อน ทั้งที่หลักฐานที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรมีเพียง 10% ของความผิด ขณะที่อีก 90% เกิดขึ้นในประเทศไทย
เป็นคำถามพื้นฐานที่สังคมต่างจับตาจุดจบของคดี!
หากติดตามคดีหมูเถื่อนต่อเนื่องจะพบว่าคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของ DSI แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
1. คดีหมูเถื่อนตกค้าง 161 ตู้ จับกุมผู้กระทำผิด 18 บริษัท ในจำนวนนี้ 10 คดี ส่งต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อสอบสวนต่อ
2. หมูเถื่อนสำแดงเท็จ 2,385 ใบขน ของกลาง 4,500 ตัน ออกไปจำหน่ายในประเทศ รอการตรวจสอบเอกสารในต่างประเทศ MLAT
3. คดีนำเข้าซากสัตว์เถื่อน เนื้อวัว ตีนไก่ และเนื้อหมู จำนวน 10,000 ตู้ คดีไม่มีความคืบหน้า
และ 4. ล่าสุดหมูเถื่อนตกค้างตั้งแต่ปลายปี 2566 จำนวน 17 ตู้ ของกลาง….ตัน มีทั้งผู้กระทำผิดรายเดิมและผู้กระทำรายใหม่ ซึ่ง DSI ดำเนินการฟ้องร้องต่อไป
อย่างไรก็ตาม คดีหมูเถื่อนใช่ว่าจะไม่มีการตัดสินจนถึงที่สุด โดยหากย้อนไปดูการดำเนินคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเห็นได้ว่า มีการใช้หลักฐานที่สืบสวนและสอบสวนมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินคดีตามขั้นตอนตามกฎหมายไทยและทำอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเข้าสู่ขบวนการพิจารณาของศาล มีการลงโทษผู้ต้องหาตามความผิดสูงสุดไปแล้ว 3 คดีใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ก็สามารถปิดคดีได้
ถือเป็นอีกหนึ่งข้อสังเกตว่า เหตุใดคดีแบบเดียวกัน หนึ่งหน่วยงานรัฐสามารถเดินหน้าได้จนถึงที่สุด แต่อีกหนึ่งหน่วยงานกลับขับเคลื่อนล่าช้า จนต้องสอบถามความคืบหน้าเพราะจะเข้าสู่ปีที่ 3 แล้วยังไม่เห็นจุดจบ!
เป็นเสียงสะท้อนของนักวิชาการที่เฝ้าติดตามคดีนี้มาโดยตลอด ในขณะที่ความรู้สึกของผู้คนในสังคมที่มีต่อคดีนี้ ก่อนจะโยงไปถึงกรณีการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำนั้น ยิ่งหดหู่เข้าไปอีก
เพราะอย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้นขนาดกรณี “หมูเถื่อน” ที่มีหลักฐานจับได้คาหนังคาเขา ยังเอาผิด “หมาแมวสักตัว” ยังไม่ได้เลยจนป่านนี้ แล้วกรณี “ปลาหมอคางดำ” ที่ “บริษัทภิบาล” 4 ปีซ้อนประกาศอยู่โทนโท่ว่า “ไม่รู้ ไม่เห็น (และ)ไม่เกี่ยวข้อง” จะไปเอาผืดอะไร ฯพณฯ ท่านได้
เอวังด้วยประการฉะนี้!!!
#สืบจากข่าว รายงาน