นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการหรือข้อเสนอแนะของ กสม. มาอย่างต่อเนื่อง โดย กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้ยุติการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ มาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 รายงาน เนื่องจากหน่วยงานได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. ทั้งหมดหรือบางส่วนอันเป็นสาระสำคัญแล้ว ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ กสม. ว่าด้วยการติดตามผลการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2564 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับตัวอย่างรายงานผลการตรวจสอบที่ กสม. มีมติให้ยุติการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ แบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
(1) รายงานผลการตรวจสอบประเภทสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เช่น กรณีการตรวจสอบกลุ่มกิจกรรมในมหาวิทยาลัยรามคำแหงกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเคยจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรมให้กับนักศึกษาใหม่ในลักษณะที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน กลุ่มกิจกรรมดังกล่าวได้เน้นย้ำและกำชับไปยังสมาชิกแล้วว่า การจัดกิจกรรมทุกประเภทต้องเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน และไม่ได้ดำเนินกิจกรรมใด ๆ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เนื่องจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีคำสั่งลงโทษให้งดการจัดกิจกรรม และตั้งคณะกรรมการสอบวินัย โดยมีการลงโทษทางวินัยนักศึกษาที่จัดกิจกรรมแล้ว
(2) รายงานผลการตรวจสอบประเภทสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง คือ กรณีร้องเรียนว่าการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ล่าช้าเป็นระยะเวลาหลายปี โดยปัจจุบัน ก.พ.ค. ได้วินิจฉัยอุทธรณ์เรื่องตามคำร้องเสร็จสิ้นแล้ว และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) อยู่ระหว่างการดำเนินการสนับสนุนอัตรากำลังตำแหน่งนิติกรให้แก่ ก.พ.ค. เป็นกรณีพิเศษโดยเร่งด่วน และการปรับปรุงแก้ไขกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. …. เพื่อลดขั้นตอนบางขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่อให้การพิจารณาเรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์เป็นไปอย่างยุติธรรมและรวดเร็วยิ่งขึ้น
(3) รายงานผลการตรวจสอบประเภทสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เช่น กรณีการตรวจสอบสื่อโทรทัศน์แห่งหนึ่งซึ่งบันทึกภาพของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในกระบวนการเกณฑ์ทหารและนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งนำเสนอข่าวในลักษณะเสียดสีบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ บริษัทสื่อโทรทัศน์แห่งดังกล่าวได้เยียวยาจิตใจของผู้ร้องที่ได้รับผลกระทบโดยได้ประสานงานกับเว็บไซต์และผู้เกี่ยวข้องเพื่อลบโพสต์คลิปวิดีโอรายการข่าวดังกล่าวออกจากระบบอินเทอร์เน็ตแล้ว รวมทั้งได้กำหนดนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานให้ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการนำเสนอที่อาจสื่อความหมายไปในทางด้อยค่าหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดทำ “แนวปฏิบัติการนำเสนอของสื่อมวลชนเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ” และดำเนินการเผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว
(4) รายงานผลการตรวจสอบประเภทสิทธิแรงงาน เช่น กรณีรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตามที่ปรากฏในรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2564 ขององค์กรฮิวแมนไรทส์ วอทช์ กรณีรัฐบาลสหรัฐอเมริการะบุให้สินค้าจากอุตสาหกรรมประมงไทยอยู่ใน “รายการสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ” นั้น เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาของกระทรวงแรงงานตามข้อเสนอแนะของ กสม. ในประเด็นต่าง ๆ แล้ว ดังนี้ กรณีให้บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับอย่างเคร่งครัด หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายได้จัดทำคู่มือปฏิบัติงานพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยได้นำ “ตัวชี้วัดภาวะแรงงานบังคับ” ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มาใช้เป็นพื้นฐานในการประเมิน รวมถึงมีการดำเนินงานร่วมกับองค์กรภาคี ส่งผลให้มีสถิติการจับกุมดำเนินคดีอาญาในคดีค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้น กรณีให้สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนงานกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเอกชนมิให้กระทำความผิด รวมถึงให้องค์กรเครือข่ายมีบทบาทเฝ้าระวัง แจ้งเหตุในช่องทางกลไกการร้องเรียนของทุกหน่วยงาน ส่วนกรณีให้เปิดโอกาสและสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมร่วมมีบทบาทในการตรวจสอบปัญหา คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ได้มีคำสั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานเพิ่มเติม โดยได้เพิ่มผู้แทนมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ
(5) รายงานผลการตรวจสอบประเภทสิทธิเด็ก คือ รายงานผลการตรวจสอบกรณีร้องเรียนว่า ครูหัวหน้าฝ่ายปกครองของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยองลงโทษนักเรียนด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมและทำให้อับอายต่อหน้าสาธารณะ ซึ่งโรงเรียนได้กำชับครูฝ่ายปกครองให้ตระหนักถึงการลงโทษนักเรียนซึ่งจะต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 อย่างเคร่งครัด และเคารพสิทธิมนุษยชนของนักเรียน เน้นการจัดกิจกรรมให้ความรู้นักเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชน และจัดอบรมครูที่เข้าทำงานใหม่ทุกปีการศึกษาเพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักถึงผลกระทบจากการลงโทษนักเรียนที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนได้ซักซ้อมความเข้าใจไปยังผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชนในระบบในกรุงเทพมหานคร ให้กำชับผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวง ศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 อย่างเคร่งครัด หากมีการลงโทษนอกเหนือไปจากโทษที่กำหนดไว้ จะถือเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และอาจเป็นความผิดตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2556 ด้วย
“การติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะ เป็นบทบาทสำคัญของ กสม. ในการผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย แม้ในภาพรวมหน่วยงานต่าง ๆ จะให้ความสำคัญและดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. แล้ว แต่บางกรณียังคงพบการดำเนินการที่ล่าช้า มีข้อจำกัดด้านบุคลากรหรืองบประมาณ ซึ่งถือเป็นข้อท้าทายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือและให้การสนับสนุนกันและกันอย่างเป็นระบบต่อไป” นายชนินทร์กล่าว