เมื่อเร็วๆ นี้ มีสื่อมวลชนไทยได้ติดต่อกับสถานทูตจีนประจำประเทศไทย เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทย โดยสถานทูตจีนได้รวบรวมประเด็นและตอบคำถามต่างๆ ดังนี้
1. นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันเป็นอย่างไร
จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เป็นตลาดหลักและประเทศที่มีอุตสาหกรรมการผลิตใหญ่ของโลก ประเทศจีนดำเนินตามยุทธศาสตร์การเปิดประเทศที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ที่สำคัญจีนมีส่วนร่วมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ประมาณ 30% มานานกว่า 10 ปีติดต่อกัน
จีนมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมที่มีคุณภาพสูง และเปิดกว้าง เพื่อบรรลุถึงความทันสมัยอย่างครอบคลุม โลกในปัจจุบันอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวาย จีนยินดีที่จะเพิ่มเสถียรภาพให้กับโลกด้วยการพัฒนาอย่างสันติ และเสนอโอกาสใหม่ๆ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของโลก ด้วยการพัฒนาแบบเปิดกว้างของตัวเอง โดยทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ
2. ท่านประเมินผลความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีนอย่างไร
จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เปรียบเหมือนเป็นญาติที่ดี ที่มีความใกล้ชิดทางสายเลือด เป็นหุ้นส่วนที่ดี ที่มีอนาคตร่วมกัน ประชาชนทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดดุจพี่น้อง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน
ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรของไทยที่สำคัญ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยมากกว่า 40% เฉพาะทุเรียนเพียงรายการเดียวก็มีมูลค่า 4,566 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา
กิจการต่าง ๆ ของจีน ยังเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง จากสถิติเบื้องต้นพบว่า บริษัทจีนลงทุนในไทยมากกว่า 1,000 แห่ง โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการยื่นโครงการการลงทุน 588 โครงการ มูลค่าการลงทุนเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนส่วนใหญ่ อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานใหม่ และการผลิตสมัยใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาของประเทศไทยเป็นอย่างมาก มีส่วนสนับสนุนที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในไทย การจ้างงาน การเก็บภาษี การฝึกอบรมบุคลากร สวัสดิการสังคม และด้านอื่นๆ
ไทยยังเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวจีน ก่อนการระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเยือนประเทศไทยสูงถึง 11 ล้านคน ในปีนี้ ทางการไทยคาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะสูงถึง 8 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 350,000 ล้านบาท
จีนมีความเชื่อมั่นว่า การพัฒนาของจีนจะยังประโยชน์ให้ไทย โดยจีนยังคงตั้งเป้าหมายที่จะสร้างความก้าวหน้า ในการขับเคลื่อนความทันสมัยอย่างครอบคลุม จีนกลายเป็นตลาดหลักของโลก ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไทย-จีนมีการเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับระบบเศรษฐกิจ และการค้า เราเชื่อว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไทย จะมีอนาคต ขยายตัวมากยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองมากยิ่งขึ้น
3. ท่านมองความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างไทยและจีนในปัจจุบันอย่างไร
การค้าระหว่างจีนและไทย มีโครงสร้างที่ชดเชยซึ่งกันและกัน เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยก่อนปี 2562 จีนขาดดุลและไทยเกินดุล แต่หลังจากปี 2563 ได้เปลี่ยนเป็นจีนเกินดุล และไทยขาดดุล เป็นผลมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจ และการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป
แต่การขาดดุลหรือเกินดุล ไม่สามารถมองอย่างง่ายๆว่า ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ สิ่งสำคัญคือ ขึ้นอยู่กับว่าการค้าที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับความต้องการ และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ จีนมีตลาดที่ใหญ่มาก แต่ไม่เคยตั้งเป้าว่าจะต้องเกินดุลการค้ากับไทย จีนยินดีเปิดตลาดให้ไทยส่งออกไปยังจีนมากขึ้น และได้อำนวยความสะดวก ออกมาตรการการสนับสนุนในด้านต่างๆ
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากจากสื่อท้องถิ่น และในโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับการส่งออกสินค้าจีนมายังประเทศไทย ความจริงเกือบ 80% สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีน เป็นสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง ซึ่งถูกนำมาผลิต เพิ่มมูลค่า ก่อนการส่งออกในท้ายสุด
ส่วนสิ่งที่เรียกว่า สินค้าราคาถูก ที่ดึงดูดความสนใจของประชาชน ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาหาร สินค้าเพื่อสุขภาพ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ เป็นต้น ซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของยอดมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีน หรืออีกแง่ สินค้าเหล่านี้มีมูลค่าแค่ครึ่งเดียวของสินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกไปจีน โดยสินค้าเกษตรเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เสริมความต้องการของประชาชนในแต่ละประเทศ เช่น ทุเรียนไทย ส่งออกไปจีน ส่วนส้มและผลไม้เขตอบอุ่นของจีนบางชนิดส่งเข้ามาไทย
จากรายงานของสื่อ สินค้าจีนในบางส่วน มีปัญหาไม่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์อาหารและยาของไทย (อย.) หรือไม่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทย (สมอ.) รวมถึงไม่ได้มาตรฐานอื่นๆ เป็นต้น รัฐบาลจีนเรียกร้องให้บริษัทจีนและชาวจีน ดำเนินกิจการตามกฎหมาย ข้อบังคับในต่างประเทศอย่างเคร่งครัดโดยตลอด เราสนับสนุนรัฐบาลไทยให้เข้มงวด ในการกำกับดูแลตามกฎหมาย แก้ไข ปราบปรามการละเมิดกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ที่ผ่านมา กิจการขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีของไทย เผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าจีน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อประกอบกับปัจจัยเชิงลบอื่นๆ ทำให้กิจการเอสเอ็มอี ประสบความยากลำบาก เราตระหนักดีถึงความสำคัญของกิจการเหล่านี้ เข้าใจถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้น เราเชื่อว่ากิจการเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือ และเรายินดีที่จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ช่วยเหลือ พัฒนา ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างยั่งยืนระหว่างจีนและไทย
4. ท่านมองบทบาทของวิสาหกิจจีนในไทยต่อการพัฒนาของประเทศไทยอย่างไร
บริษัท หัวเว่ย เป็นบริษัทไฮเทคของจีนที่เพื่อนชาวไทยคุ้นเคย เมื่อท่านเดินเข้าไปในอาคารบริษัท หัวเว่ย ในประเทศไทย จะได้เห็นข้อความสะดุดตาว่า “Grow in Thailand, Contribute to Thailand” หรือ “เติบโตในไทย และมีส่วนช่วยเหลือประเทศไทย” ปรากฏอยู่ในสายตา สะท้อนให้เห็นแนวความคิดร่วมกัน ของบริษัทจีนมากกว่า 1,000 แห่ง ที่มาลงทุนและตั้งโรงงานในประเทศไทย เพื่อสร้างเครือข่ายการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ในอีกด้านก็เป็นความปรารถนาดีของกิจการของจีน ที่ต้องการช่วยเหลือ ยกระดับการพัฒนาของไทย ตอบสนองต่อความสัมพันธ์จีน-ไทยที่ว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”
เรามั่นใจว่า การลงทุนของวิสาหกิจจีน ช่วยให้ไทยพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นำ 5G มาใช้เชิงพาณิชย์ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่ในแนวหน้าในภูมิภาค ซึ่งทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัลของจีนหลายแห่ง เช่น หัวเว่ย, ZTE และ China Mobile ไทยกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานใหม่และผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว จีนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและมีบทบาทสำคัญในกระบวนการการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แผงโซล่าเซลล์ การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ มูลค่าผลผลิตรวมของนิคมอุตสาหกรรมระยองไทย-จีนมีมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 80% ของผลผลิตเหล่านั้นส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
วิสาหกิจจีนที่มาลงทุนในไทย มุ่งมั่นที่จะพัฒนาแบบบูรณาการ เชื่อมโยงกับกิจการของไทย ในการสร้างห่วงโซ่การผลิต ห่วงโซ่อุปทาน โดยใช้วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตในไทย เพื่อส่งเสริมพัฒนากิจการของคนไทย โดยสินค้าที่ผลิตและส่งออก มีการใช้ปัจจัยการผลิตของไทยมากกว่า 40% และมีการขยายสัดส่วนการใช้ปัจจัยการผลิตของไทยอย่างจริงจัง บริษัท Xinyuan Energy Thailand มีซัพพลายเออร์ในไทย 459 ราย บริษัท China Resources Thailand มีซัพพลายเออร์ในไทยมากกว่า 700 ราย และบริษัท SAIC Motor-CP มีซัพพลายเออร์ในไทยมากกว่า 100 ราย รวมถึงวิสาหกิจจีนในประเทศไทยยังปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเคร่งครัด
วิสาหกิจจีนยังช่วยเพิ่มการจ้างงานและอบรมบุคลากร ไทยยังมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยต้องจ้างพนักงานไทย 4 คน ถึงจะยื่นขอใบอนุญาตทำงานพนักงานต่างชาติได้ 1 คน บริษัทจีนที่ลงทุนในไทยทำเกินกว่ากฎระเบียบเหล่านี้มาก สัดส่วนของพนักงานคนไทยของบริษัท SAIC Motor-CP อยู่ที่ระดับ 97.5% ของบริษัท Haier Thailand คือ 94% และของบริษัท Zhongce Rubber Thailand อยู่ที่ 92% คาดว่าบริษัทจีนได้สร้างงานกว่า 300,000 ตำแหน่ง พนักงานเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีค่าจ้างที่ค่อนข้างมั่นคง แต่ยังได้รับการฝึกอบรมทักษะที่ดี เป็นบุคลากรที่มีทักษะเพิ่มขึ้นอีกด้วย การอบรมเพิ่มศักยภาพเหล่านี้ยังเปิดกว้างให้คนไทย ให้สังคมไทยอีกด้วย บริษัทหัวเว่ยได้จัดตั้ง Huawei ASEAN Academy (Thailand) ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรการอบรมแก่คนไทยไปแล้ว 96,200 คน
วิสาหกิจจีนในไทยมีความกระตือรือร้นกับสวัสดิการสาธารณะ ดำเนินการการกุศล และสนับสนุนการศึกษาสายอาชีพ การแพทย์และการดูแลสุขภาพ เพื่อทำประโยชน์ต่อสังคมไทย ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาอักษรเบรลล์ สำหรับผู้พิการทางสายตา SANY Heavy Industry (Thailand) บริจาคทุนทรัพย์ให้กับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า Sinohydro (Thailand) บริจาคกองทุนป่าชายเลนให้กับกรุงเทพมหานคร และ Haier Thailand ให้การสนับสนุนทางการเงินก่อสร้างโรงเรียนประถมศึกษาในท้องถิ่น วิสาหกิจจีนหลายแห่งได้รับรางวัลที่มอบโดยหน่วยงานรัฐบาลไทย เช่น “รางวัลความสำเร็จด้านความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น” “รางวัลสถานประกอบการด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการดีเด่น” และ “รางวัลนายจ้างดีเด่น”
จากรายงานของสื่อและคดีที่เกี่ยวข้องที่ทางตำรวจไทยสอบสวน ชาวจีนบางคนได้เข้าร่วมในธุรกิจการบริการในประเทศไทย โดยมีคนเป็นจำนวนน้อยเกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อลามก การพนัน และยาเสพติด และบางคนได้หลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมายโดย “ให้คนอื่นถือหุ้นแทน” สำหรับปัญหาการละเมิดกฎหมายของท้องถิ่นที่ต้องสงสัยเหล่านี้ จีนสนับสนุนไทยในการสืบสวนและปราบปรามการกระทำเหล่านี้ตามกฎหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยของตลาดที่มีความเป็นธรรม และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย ความจริงแล้ว หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของทั้งสองประเทศได้ดำเนินการความร่วมมือที่ดีในการป้องปราบธุรกิจสีดำและสีเทามาโดยตลอด
5. ท่านมองปัญหาใหม่ที่เกิดจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติอย่างไร
แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศต่างๆ ต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหาในการพัฒนาแพลตฟอร์มเหล่านี้ โดยอีคอมเมิร์ซช่วยลดขั้นตอนทางธุรกิจ ประหยัดต้นทุนการทำธุรกรรม และนำเสนอทางเลือกที่สะดวกมากขึ้นแก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบพิเศษของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น ทำให้รูปแบบธุรกิจแบบดั้งเดิมต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านการแข่งขันที่รุนแรง และเกิดความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะการควบคุมดูแลด้านการบริหาร คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การคุ้มครองสิทธิผลประโยชน์ของร้านค้าและผู้บริโภค ดังนั้น เราต้องมีมาตรการรับมือ เพื่อเพิ่มจุดแข็งและหลีกเลี่ยงจุดอ่อน แสวงหาข้อได้เปรียบ หลีกเลี่ยงข้อเสีย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือการใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ซ โดยก่อนหน้านี้ไทยได้การถ่ายทอดสดอีคอมเมิร์ซเพื่อนำสินค้าไปขายให้จีน ซึ่งขายได้สำเร็จถึง 4,000 ล้านบาทภายในสองวัน และยังได้ใช้การถ่ายทอดสดทางอีคอมเมิร์ซเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 20 ล้านคน มียอดการทำธุรกรรมถึง 100 ล้านบาท จีนยินดีและส่งเสริมให้ไทยใช้ประโยชน์จากรูปแบบอีคอมเมิร์ซใหม่ๆ เพื่อขยายตลาดจีน ยินดีที่จะกระชับความร่วมมือในการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการกำกับดูแลตลาดอีคอมเมิร์ซ และร่วมกันใช้โอกาสใหม่ของยุคอินเทอร์เน็ต