กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.วงศ์ปกรณ์ เปรมกุลนันท์ รอง ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.วิจักขณ์ ตารมย์ รอง ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.เมฆพิศาล ศรีภิรมย์ ผกก.5 บก.ปอศ., พ.ต.ท.ภูวเดช จุลกะเสวี, พ.ต.ท.วิวัฒนชัย คลื่นแก้ว, พ.ต.ท.จักรี กันธิยะ และ พ.ต.ท.พิทยา คงเจริญ รอง ผกก.5 บก.ปอศ. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม/รับตัว นำโดย ว่าที่ พ.ต.ต.พิชญากร แตงรอด สว.กก.5 บก.ปอศ. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ปอศ. ร่วมกันจับกุม/รับตัว นายราเกซ ฯ อายุ 72 ปี ผู้ต้องขัง คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 4138/2559 ความผิดฐานพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ สถานที่จับกุม/รับตัว ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แขวงคันนายาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567
พฤติการณ์ เมื่อระหว่างปี 2537-2539 ขณะนายราเกซ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ (บีบีซี) โดยกระทำการทุจริตปล่อยวงเงินสินเชื่อเกินบัญชีกว่า 30 ล้านบาท กับเอกชน ร่วม 10 แห่ง โดยไม่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการสินเชื่อ หรือคณะกรรมการบริหารธนาคารบีบีซีก่อน และได้ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ขอกู้ โดยไม่มีหลักประกัน ตลอดจนไม่วิเคราะห์ฐานะของลูกหนี้ และความสามารถในการจ่ายหนี้คืน อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นเหตุให้ธนาคารบีบีซี ได้รับความเสียหาย ร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ดำเนินคดีกับนายราเกซ ในความผิดฐานพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ จนนำไปสู่การออกหมายจับ
หลังเกิดเหตุนายราเกซหลบหนีไปยังประเทศแคนาดาเป็นเวลา 13 ปี ต่อมาถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไทย ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาเมื่อปี 2555 จำคุกนายราเกซ 10 ปี และต่อสู้คดีเรื่อยมา กระทั่งคดีถึงที่สุด ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 335 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุก 20 ปี และสั่งคืนเงินผู้เสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้รับแจ้งจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่า นายราเกซ ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 9 กันยายน 2567 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม
การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้ดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อไปรับตัวนายราเกซ ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่เนื่องจากนายราเกซ มีโรคประจำตัว คือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถเดินได้ และมีอายุมาก มีความเสี่ยงต้องอยู่ในความดูแลของผู้มีความรู้ ทางการแพทย์ ทางญาติและโรงพยาบาลจึงแนะนำให้ทางเจ้าหน้าที่ ประสานขอรถที่มีเครื่องมือทางการแพทย์ในการเคลื่อนย้ายตัวนายราเกซ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ประสานรถมูลนิธิและทำการเคลื่อนย้ายตัว โดยได้นำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจเพื่อตรวจร่างกาย ว่ามีความพร้อมในการเดินทางหรือไม่ โดยผลการตรวจร่างกาย แพทย์มีความเห็นว่า สามารถเดินทางได้ และไม่ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล จึงได้ส่งตัวให้ยังกองกำกับการ 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (บก.สส.สตม.) เพื่อดำเนินการผลักดันออกนอกประเทศตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ต่อไป