เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 25ก.ย.67 ที่ ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ถนนพหลโยธิน จตุจักร กทม.
นายธรรมราช สาระปัญญา ทนายความ เดินทางเข้าพบ พงส.บก.ปปป. นำข้อมูลหลักฐานร้องให้ตรวจสอบ เกี่ยวกับสำนักงานพระพุทธศาสนา 3 ประเด็น
1.)ผอ.สำนักพุทธฯ แต่งตั้งบุคคลมาเป็นรอง ผอ.สำนักพุทธฯ เมื่อ ก.ค.นี้ ทั้งที่ภรรยาตัวเองถูกดำเนินคดีเงินทอนวัดเมื่อปี 2563เหตุใดจึงยังมานั่งเก้าอี้ รอง ผอ.สำนักพุทธฯได้ ทั้งที่ภรรยามีความผิดเป็นที่ประจักษ์
2.)ได้ยึดทรัพย์ในคดีเงินทอนวัดดังกล่าวคืนมาหรือยัง ?
3.)ทำไมถึงไม่ดำเนินคดี รอง ผอ.รายนี้
ทนายธรรมราช เปิดเผยว่า ตนต้องการให้ตำรวจ บก.ปปป. ดำเนินการตรวจสอบสำนักงานพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะกรณีเมื่อปี 2561 ที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำสั่งพิพากษาจำคุกอดีตภรรยาของ นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดปทุมธานี (ผอ.พศจ.ปทุมธานี) ในขณะนั้น เป็นเวลา 20 ปี พร้อมชดใช้ค่าเสียหาย 12 ล้านบาท โดยทนายธรรมราชตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมนายบุญเชิดถึงไม่ถูกดำเนินคดีด้วย // อีกทั้งทรัพย์สินที่อดีตภรรยามีร่วมกับนายบุญเชิดถูกยึดไปแล้วหรือไม่ // รวมทั้งการที่ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนา แต่งตั้งให้นายบุญเชิดเข้ามาเป็น รองผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนานั้นได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติหรือไม่ จึงอยากนำหลักฐานมาให้ตำรวจสอบสวนกลางดำเนินการตรวจสอบ
นอกจากนี้ทนายธรรมราชยังบอกอีกว่า เรื่องนี้มีมูลค่าความเสียหายหลายสิบล้าน แต่ทำไมสังคมไม่มีใครพูดถึง ต่างจากคดีของครอบครัวเชื่อมจิตที่มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความเอาผิดเพียงแค่ 5 คน มูลค่าความเสียหายรวมกันประมาณ 50,000 บาท สังคมกลับพูดถึงและสนใจเรื่องนี้กันมากกว่า
ขณะที่นายประพันธ์ุ กิตติฤดีกุล เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ เปิดเผยว่า เหตุผลที่ตนขอใช้คำว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีเงินทอนสำนักพุทธฯ เนื่องจากตนได้รับข้อมูลมาว่า เมื่อปี 2561 ผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ ในขณะนั้นได้มีการลงไปสอบถามวัดต่าง ๆ ว่าขาดเหลือเงินในการซ่อมบำรุงวัดเท่าไร จะเอางบประมาณมาให้ แต่มีข้อแม้ว่าให้ทางวัดแจ้งว่าขาดเงิน 20 ล้านบาท โดยคนในสำนักพุทธฯ อ้างกับทางวัดว่า จะเอามาให้แค่ 5 ล้านบาท ส่วนอีก 15 ล้านบาท จะเก็บไว้ให้วัดอื่น ๆ ซึ่งทางวัดด้วยความที่เชื่อใจและเห็นว่าเป็นคนจากสำนักพุทธฯ ลงมาพูดคุยเองจึงเซ็นยินยอมให้ไป โดยที่ไม่รู้ว่าเงินส่วนต่างอีก 15 ล้านบาทนั้น ถูกคนในสำนักพุทธฯ ทุจริตไป จึงขอใช้คำว่า “เงินทอนสำนักพุทธฯ ไม่ใช่เงินทอนวัด”