วันอังคาร, ตุลาคม 15, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีน“จีน-เวียดนาม” ปรับรอยร้าวในทะเล สู่โอกาสความร่วมมือ “ทวิภาคี”

Related Posts

“จีน-เวียดนาม” ปรับรอยร้าวในทะเล สู่โอกาสความร่วมมือ “ทวิภาคี”

ปัญหาทะเลจีนใต้ เป็นหนึ่งในบริเวณที่มีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์มาอย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้สหรัฐฯ แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ แต่ได้ยกเอาการพิทักษ์เสรีภาพการเดินเรือในเขตน่านน้ำสากล มาเป็นข้ออ้างในการส่งเรือรบเข้ามาปฏิบัติการณ์ เพื่อคานอำนาจการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน กลายเป็นที่แข่งขันทางอิทธิพลระหว่างสองชาติมหาอำนาจของโลก และเวียดนามคือหนึ่งในประเทศที่มีพื้นที่รอยต่อในทะเลกับจีน

อย่างไรก็ตาม การเดินทางเยือนเวียดนามของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อเดือนธันวาคม 2023 ทั้งสองประเทศ ได้บรรลุข้อตกลงที่จะก้าวไปสู่การสร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกัน โดยผู้นำจีนกล่าวว่า “จีนและเวียดนามควรเปลี่ยนความท้าทายที่เกิดจากปัญหาทางทะเล ให้กลายเป็นโอกาสของความร่วมมือทวิภาคี ขณะทีผู้นำเวียดนาม ก็สนับสนุนให้ทั้งสองประเทศ เคารพซึ่งกันและกัน ระงับข้อพิพาทด้วยมาตรการสันติ ตามแนวทางของกฎหมายระหว่างประเทศ

ล่าสุด เช้าวันที่ 13 ตุลาคม 2024 ณ ทำเนียบประธานประเทศ นายกรัฐมนตรี ฝ่ามมิงชิ้ง ได้ให้การต้อนรับ นายกรัฐมนตรีจีน หลี่เฉียง ตามแบบรัฐพิธีสำหรับผู้นำรัฐบาลต่างประเทศ ที่มาเยือนเวียดนาม  นับเป็นครั้งแรกการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ของนายกรัฐมนตรีจีน หลี่เฉียง และเป็นการเยือนเวียดนามครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีจีน ในรอบ 11 ปี 

หลีเฉียงยืนยันว่า จีนให้ความสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์กับเวียดนาม เพื่อส่งเสริมมิตรภาพที่มีมาช้านาน สร้างสรรค์ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันอย่างจริงจัง นำผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมให้แก่ประชาชนทั้งสองประเทศ เพื่อมีส่วนร่วมต่อสันติภาพ เสถียรภาพและการพัฒนาที่เจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคและโลก

นายกฯจีนและเวียดนาม ยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่จริงใจและตรงไปตรงมา ของ “ข้อตกลงพื้นฐานที่เป็นแนวทางในการยุติปัญหาทางทะเลของเวียดนามและจีน” ตามหลักกฎหมายระดับชาติ และนานาชาติ ปรับใช้กลไกการเจรจาในประเด็นทางทะเล อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ปัญหาทะเล กระทบต่อความไว้วางใจทางการเมืองระหว่างทั้งสองฝ่าย และกระทบต่อความรู้สึกและความไว้วางใจของประชาชนทั้งสองประเทศ

หากมองในเชิงยุทธศาสตร์ จีนสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับเวียดนามได้มาก ในฐานะบ้านใกล้เรือนเคียง โดยเฉพาะในด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยี ทั้งคู่ต่างเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกันและกันในอาเซียน  ในเวลาเดียวกัน เวียดนามก็พยายามสร้างสมดุลระหว่างสองขั้วมหาอำนาจ แต่ด้วยรากฐานทางวัฒนธรรม  รูปแบบการเมืองการปกครอง ที่คล้ายคลึงกัน ทำให้ท่าทีความสัมพันธ์ของเวียดนามกับจีน ดูจะมีน้ำหนักมากกว่ามหาอำนาจฝั่งตะวันตก

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts