การประชุมสุดยอด “บริกส์” ครั้งที่ 16 เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม 2024 ถูกจับตาว่า ไม่เพียงเป็นเวทีสำคัญของประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์ แต่ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก
“บริกส์” เป็นการรวมตัวของประเทศกำลังพัฒนา จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 ของ 4 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ต่อมาในปี 2553 ประเทศแอฟริกาใต้เข้าร่วม จึงมีตัว S เติมเข้ามา ปัจจุบันบริกส์มีสมาชิก 10 ประเทศ รวมอียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เข้าร่วมเมื่อต้นปีนี้ และอีกกว่า 40 ประเทศ แสดงเจตจำนงต้องการเป็นสมาชิก
บริกส์ถูกมองว่า เป็นคู่แข่งกับขั้วอำนาจเศรษฐกิจเดิมอย่าง สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นการรวมกลุ่มของประเทศสมาชิก ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและจำนวนประชากร ในปี 2565 ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์ มีสัดส่วน 28.3% หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของขนาดเศรษฐกิจโลก ด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งสิ้น 28.6 ล้านล้านดอลลาร์ เติบโต 5.6% หรือมากกว่าอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ 3.1% มีจำนวนประชากรรวม 3,617.6 ล้านคน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก สะท้อนถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ
แม้กระทั่งหลายประเทศในอาเซียน ก็มีแผนจะเข้าร่วมกลุ่มบริกส์ เช่นประเทศไทย ได้ส่งหนังสือแสดงความประสงค์เข้าร่วมความร่วมมือนี้ โดยคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2024 ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับมาเลเซียกำลังอยู่ระหว่างการสมัครเป็นสมาชิก รวมถึง สปป.ลาวก็มีความสนใจเช่นเดียวกัน
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศเมื่อวันศุกร์ 18 ตุลาคม ว่า บริกส์จะเป็นผู้นำที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากมีขนาดใหญ่และเติบโตเร็วกว่าชาติตะวันตก เป็นการถ่วงดุลอำนาจกับชาติตะวันตก ทั้งในด้านการเมืองและการค้าโลก เป็นอิสระจากอิทธิพลภายนอก การประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความร่วมมือของนานาประเทศ ในการปฏิรูประบบการเงินโลก และยุติการครอบงำของเงินดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย