วันศุกร์, ตุลาคม 25, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมกสม. แนะยกเลิกแนวปฏิบัติสำนักงานประกันสังคมกรณีไม่จ่ายเงินสงเคราะห์ของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตายให้กับบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่เป็นบุตรตามความเป็นจริง

Related Posts

กสม. แนะยกเลิกแนวปฏิบัติสำนักงานประกันสังคมกรณีไม่จ่ายเงินสงเคราะห์ของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตายให้กับบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่เป็นบุตรตามความเป็นจริง

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้พิจารณากรณีสำนักงานประกันสังคมปฏิเสธการจ่ายเงินสงเคราะห์และเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตายให้กับเด็กหญิงซึ่งเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่เป็นบุตรตามความเป็นจริงของผู้เสียชีวิต โดยเด็กหญิงและมารดาต้องยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการอุทธรณ์ ต่อศาลแรงงานภาค 7 เพื่อให้ได้รับเงินสงเคราะห์ตามมาตรา 73 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ต่อมา แม้ว่าศาลแรงงานภาค 7 จะมีคำพิพากษาว่า “บุตร” ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 หมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและบุตรตามความเป็นจริงด้วย และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้พิพากษาเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 7 แต่สำนักงานประกันสังคมกลับมีหนังสือแจ้งเวียนว่า คำพิพากษามีผลผูกพันเฉพาะราย และให้ตีความคำว่า “บุตร” หมายถึงบุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น กสม. เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการจำกัดและกระทบต่อสิทธิเด็กและทายาทตามความเป็นจริงของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตาย จึงได้หยิบยกขึ้นศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการรวบรวมข้อมูลของสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ระหว่างปี 2565 ถึงเดือนพฤษภาคม 2567 ระบุว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด 64 จังหวัด มีคำร้องขอรับรองบุตรเพื่อนำไปใช้ประกอบการยื่นขอรับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายให้แก่บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 3,812 คดี เฉลี่ยปีละ 1,687 คดี โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยกว่า 10,000 บาท/คดี การดำเนินการดังกล่าวตั้งแต่ต้นจนเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนต้องใช้เวลานานกว่า 3 ปี 10 เดือน เป็นเหตุให้บุตรของผู้ประกันตนซึ่งขอรับเงินสงเคราะห์ ได้รับเงินล่าช้าและไม่ทันต่อสถานการณ์ความเดือดร้อน

เช่นเดียวกับกรณีนี้ การที่มารดาและเด็กต้องเป็นฝ่ายฟ้องคดีเพื่อให้ได้รับเงินประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ โดยต้องเผชิญกับขั้นตอนทางกฎหมายที่ซับซ้อน ทำให้ต้องสูญเสียรายได้ เพิ่มภาระและค่าใช้จ่ายจากการหยุดงานเพื่อไปขึ้นศาลบ่อยครั้ง ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสูญเสียแรงงานทรัพยากรบุคคลโดยไม่จำเป็น เพราะเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดตีความให้ “บุตร” ตามกฎหมายประกันสังคม หมายรวมถึงบุตรตามความเป็นจริงแล้ว สำนักงานประกันสังคมต้องจ่ายเงินดังกล่าวเช่นเดิม แต่กรณีนี้ สำนักงานประกันสังคมโดยสำนักสิทธิประโยชน์ กลุ่มงานกำกับและควบคุมการวินิจฉัยประโยชน์ทดแทน กลับมีหนังสือเวียน ที่ รง 0629/ว95 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 แจ้งสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา ว่าคำพิพากษาของศาลมีผลต่อคู่ความในคดีเท่านั้น การจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตและเงินบำเหน็จชราภาพแก่บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องเป็นกรณีที่ศาลมีคำสั่งเท่านั้น หากจะเปลี่ยนแปลงแนวทางการวินิจฉัยจ่ายประโยชน์ทดแทนได้ต้องมีคำพิพากษาที่พิจารณาพิพากษาคดีจนเป็นแนวบรรทัดฐาน

กสม. เห็นว่า แนวปฏิบัติตามหนังสือเวียนดังกล่าวของสำนักงานประกันสังคมกระทบต่อสิทธิของเด็กและทายาทที่จะได้รับสวัสดิการสังคม และหลักประกันสังคมซึ่งได้รับการรับรองตามข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) และความเห็นทั่วไป (General Comment) ของคณะกรรมการประจำกติกา ICESCR ที่ประสงค์ให้รัฐมุ่งเน้นสิทธิในการเข้าถึงและรักษาสิทธิประโยชน์แก่ผู้ที่อยู่ในความอุปการะ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของเงินหรือสิ่งอื่นใด โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้ได้ความคุ้มครองจากการขาดรายได้จากการทำงานที่มีสาเหตุจากการเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งข้อ 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่รับรองสิทธิเด็กมิให้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งการเกิดหรือสถานะอื่น ๆ ของเด็ก หรือบิดา มารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย ตลอดจนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 74 ว่าด้วยแนวนโยบายของรัฐในการคุ้มครองและส่งเสริมผู้ใช้แรงงานด้านรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ

ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 39/2567 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 จึงมีมติให้แจ้งข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการยกเลิกหนังสือสำนักสิทธิประโยชน์ กลุ่มงานกำกับและควบคุมการวินิจฉัยประโยชน์ทดแทน ที่ รง 0629/ว95 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 และให้มีหนังสือแจ้งแนวปฏิบัติเรื่องการตีความคำว่า “บุตร” ในมาตรา 73 (2) และมาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้สอดคล้องตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 7 และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ กล่าวคือให้ตีความ “บุตร” ตามกฎหมายประกันสังคม หมายรวมถึงบุตรตามความเป็นจริง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระเกินสมควรและเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของเด็กให้ได้รับสวัสดิการสังคมและหลักประกันทางสังคมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ ตามที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติมด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts