โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ มีแนวคิดสานต่อสงครามการค้ารอบใหม่ โดยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนแบบครอบคลุม ซึ่งตามแผนของทรัมป์ จะมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเป็น 60%
มาตรการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าดังกล่าว อาจสนับสนุนการผลิตในประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอาจเกิดความเสี่ยงด้านภาวะเศรษฐกิจตกต่ำพร้อมเงินเฟ้อ
ในขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์การค้าของจีนคงไม่นิ่งเฉย หากโดนมาตรการรีดภาษีที่หนักหน่วงจากทรัมป์ การตอบโต้ของปักกิ่ง นอกเหนือจากการขึ้นภาษีกับสินค้าสหรัฐฯแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันแล้ว ยังพร้อมยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆทั่วโลก ให้แน่นแฟ้นกว่าเดิม ซึ่งจะเปิดช่องว่างให้ปักกิ่งแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก
ประกอบกับขั้วอำนาจใหม่ ไม่ได้ผูกขาดอยู่กับอเมริกาเหมือนในอดีต แต่มีการแตกแขนงหลายขั้ว ยกตัวอย่างเช่นกลุ่ม “บริกส์” ที่มีจีน รัสเซีย อินเดีย และ บราซิล ร่วมกันก่อตั้ง ก็มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งเชิงเศรษฐกิจและจำนวนประชากร โดยมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของบริกส์จะแซงหน้ากลุ่มจี 7 ภายในเวลาอันใกล้นี้
บริกส์ถูกมองว่า เป็นคู่แข่งกับขั้วอำนาจเศรษฐกิจเดิมอย่าง สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นการรวมกลุ่มของประเทศสมาชิก ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและจำนวนประชากร อาจเป็นผู้นำขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ภายในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากเติบโตเร็วกว่าชาติตะวันตก เป็นอิสระจากอิทธิพลภายนอก และยุติการครอบงำของเงินดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย
ขณะที่การทำสงครามการค้ากับจีน นับตั้งแต่ปี 2561 สหรัฐฯ ยังคงขาดดุลการค้ากับจีนในระดับสูงถึง 2.79 แสนล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็น 26% ของยอดขาดดุลการค้ารวมของสหรัฐฯ ในปี 2566 ส่วนจีนยังคงเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ด้วยสัดส่วน 14% ของการส่งออกโลก
เหมาหนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวถึงชัยชนะการเลือกตั้งของทรัมป์ว่า นโยบายของจีนที่มีต่อสหรัฐฯ ยังคงมีความสอดคล้องกัน การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นกิจการภายในของสหรัฐฯ และจีนเคารพในทางเลือกของประชาชนชาวอเมริกัน
เหมาระบุว่า “นโยบายของจีนต่อสหรัฐฯ ยังคงมีความสอดคล้องกัน” ยึดหลักการความเคารพซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
แต่ถ้าเกิดสงครามการค้ารอบใหม่ จีนก็พร้อมเผชิญหน้า นั่นจึงไม่ง่ายสำหรับ “ทรัมป์”