20 เมษายน 2565 บีโอไอ เผยรองนายกรัฐมนตรี นำคณะหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเดินทางไปชักจูงการลงทุน ณ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมพบหารือกับบริษัทชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ สานความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ย้ำไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญในภูมิภาค
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 19 – 23 เมษายน 2565 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย นำคณะหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทยเดินทางไปชักจูงการลงทุน ณ กรุงโตเกียว และ จังหวัดคานากาวะ ประเทศญี่ปุ่น นับเป็นการเดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19
“สถานการณ์การระบาดของโควิด – 19 ของโลกเริ่มคลี่คลาย ทำให้หลายประเทศรวมทั้งไทยเริ่มเปิดประเทศ และสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ ในช่วงเวลานี้การลงทุนถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ บีโอไอจึงต้องเร่งจัดกิจกรรมชักจูงลงทุน ประชาสัมพันธ์มาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน” นางสาวดวงใจกล่าว
วัตถุประสงค์ของการเดินทางเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้ เพื่อสานต่อข้อริเริ่มการเป็นหุ้นส่วนการร่วมสร้างสรรค์ (co – creation) ระหว่างไทย – ญี่ปุ่น และนำไปสู่การลงทุนในอนาคต ภายใต้ข้อริเริ่ม “Asia – Japan Investing for the Future Initiative” หรือ AJIF ที่ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
สำหรับการเดินทางเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี และคณะฯ มีกำหนดการเข้าพบ นายฮิโรคาสึ มัตสึโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น รวมทั้งหารือกับ นายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น สมาพันธ์สมาคมธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น (KEIDANREN) รวมถึงบริษัทเอกชนรายใหญ่ของญี่ปุ่น ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่ไทยให้ความสำคัญ ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG การท่องเที่ยวและบริการ
นางสาวดวงใจกล่าวว่ารัฐบาลไทยได้ออกมาตรการหลายประการเพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกนักลงทุนหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า มาตรการด้านภาษี และการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวข้องกับยานพาหนะไฟฟ้า เช่น สถานีชาร์จยานพาหนะไฟฟ้า และการส่งเสริมโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เป็นต้น
มาตรการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับยานพาหนะไฟฟ้า รวมถึงการส่งเสริมโรงงานผลิตแบตเตอรี่ จะส่งผลให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะด้วย ถือเป็นโอกาสดีที่บริษัทญี่ปุ่นทั้งในกลุ่มยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการเชิญชวนให้นักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาพำนักในประเทศไทย โดยกำหนดวีซ่าประเภทพิเศษคือวีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาว (Long – Term Resident Visa: LTR) ซึ่งมีอายุถึง 10 ปี และญี่ปุ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายสำหรับวีซ่าประเภทใหม่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มบุคลากรทักษะสูง