ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน วันที่ 14 พฤษภาคม 2560 ที่ประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศ Belt and Road Initiative ณ กรุงปักกิ่ง ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง กล่าวว่า จีนจะสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัล (Digital Silk Road) เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ต่อการพัฒนาตามแนวคิด หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยจะมุ่งเน้นเศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ นาโนเทคโนโลยี และ ควอนตัม คอมพิวติ้ง จัดสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในอาเซียน เพื่อให้บริการองค์กรท้องถิ่น รวมทั้งองค์กรระดับภูมิภาค ดังปณิธานว่า “โลกจะยอมรับคุณ ไม่เพียงเพราะมูลค่าของตัวเลขจีดีพีของประเทศ แต่จะชื่นชมสำหรับสิ่งที่สร้างการพัฒนาและส่งผลเติบโตไปยังประเทศอื่นด้วย”
ปัจจุบันจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน มุ่งใช้โอกาสการพัฒนาใหม่จากกระแสดิจิทัล ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเขตปกครองตนเอง “กว่างซี” ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เชื่อมต่อกับอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล ได้เร่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และเปิดกว้างความร่วมมือเส้นทางสายไหมดิจิทัลกับอาเซียน
กว่างซีได้ทำหน้าที่แกนกลาง ของศูนย์สารสนเทศจีน-อาเซียน ซึ่งดำเนินงานเชื่อมต่อเครือข่าย แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงสร้างความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงทางดิจิทัลและสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา ดำเนินความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียน ในด้านรัฐบาลดิจิทัล วิถีชีวิตดิจิทัล และอุตสาหกรรมดิจิทัลเกือบ 20 โครงการ ครอบคลุมผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศอาเซียนถึง 7.87 ล้านราย
กว่างซีได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการสร้างศูนย์สารสนเทศจีน-อาเซียนในภูมิภาค ดึงดูดแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำอย่างลาซาดาและชอปปี มาจัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์ และสร้างฐานการไลฟ์ตรีมมิงข้ามพรมแดน สำหรับประชาชนทั่วอาเซียน
เส้นทางสายไหมดิจิทัล เพิ่มปริมาณการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนจาก 3.44 ล้านล้านบาท ในปี 2004 เป็น 31.37 ล้านล้านบาท ในปี 2023 ทั้งสองฝ่ายต่างเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกันและกัน ติดต่อกัน 4 ปี อนาคตใหม่ของเส้นทางสายไหมดิจิทัล จะผลักดันทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป