“…ดีลควบรวมกิจการโทรคมนาคมของ 2 ค่ายยักษ์ คือ บมจ.ทรูคอร์ปอเรขั่น จำกัด หรือทรู กับบมจ.โทเทิ่ลแอ๊คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัดหรือดีแทค ที่ดำเนินการไปตั้งแต่ปลายปีก่อน 2564 – 65 มีมูลค่ามากกว่า 2.5 แสนล้านบาท ถึงวันนี้ ก็ไม่รู้ผู้ใช้บริการโดยทั่วไป จะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของตลาดมือถือในบ้านเราในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบ้างไหม และไม่รู้ว่าที่ผ่านมา สำนักงานกสทช. มีการ Monitor คืบหน้าไปถึงไหนอย่างไรบ้าง ได้รับการปฏิบัติครบถ้วนหรือไม่อย่างไร ไม่เห็นได้ออกมาชี้แจงต่อสาธารณชนเหมือนกับเมื่อครั้ง ที่ป่าวประกาศ เหตุผลในการ ไฟเขียว ควบรวม ในครั้งนั้น เห็นมีแต่รายงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ ‘สภาผู้บริโภค’ ได้เผยแพร่ ‘รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค จากกรณีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม’เมื่อต้นปี 67ที่ผ่านมา เป็นรายงานที่มีแต่กระซวกผลการควบรวมที่ไม่เป็นไปตาม เจตนารมณ์ และเป้าหมาย ไม่ได้ทำให้ค่าบริการ ในมือ ผู้บริโภค และผู้ใช้บริการลดลงแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับถูกมัดมือชก ลดทางเลือกผู้บริโภคลงเสียอีก…”
ผู้บริโภคว่าไง?
2ปีควบรวม “ทรู-ดีแทค” Deal of the Year
ผู้ใช้บริการได้รับบริการดุจญาติมิตร-ดีขึ้นถ้วนหน้า?
กสทช.Monitor -ประเมินผลตรวจการบ้านหรือยัง!
*****
เหลือบไปเห็นข่าวบิ๊กบึ้มในแวดวงนักลงทุนที่สื่อฉบับหนึ่งนำเสนอไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถึงดีลควบรวมกิจการโทรคมนาคมของ 2 ค่ายยักษ์ คือ บมจ.ทรูคอร์ปอเรขั่น จำกัด หรือทรู กับบมจ.โทเทิ่ลแอ๊คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัดหรือดีแทค ที่ดำเนินการไปตั้งแต่ปลายปีก่อน 2564 – 65
แต่ผลการควบรวมและหลอมหลวมบริษัทเพิ่งจะมาเสร็จสิ้นกันเอาเมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา(เม.ย.67) และได้รับการโหวตจากนักลงทุนให้เป็น “ดีลแห่งปี” Deal of the Year เพราะเป็นการควบรวมกิจการที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มีมูลค่ามากกว่า 2.5 แสนล้านบาท
มีการ”อวยใส้แตก”ถึงผลของการควบรวมที่มีความโดดเด่นถึง 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1.เทคโนโลยีและไอที 2.การรวมองค์กรและการดำเนินงาน 3.การจัดซื้อในระดับใหญ่ และ 4 ผลประโยชน์ร่วมด้านรายได้
ทั้งยังโอ่ว่าบริษัทใหม่ (แต่ชื่ือเดิม)ได้รับการ ยกระดับการเชื่อมต่อและนวัตกรรมดิจิทัลทั่วประเทศ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ในเวทีเทคโนโลยีระดับโลก
ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ ตัดสินใจมอบรางวัล Deal Of The Years รางวัลแห่งคุณค่าสูงสุด ที่นักลงทุนสถาบันและสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ลงทุนรายย่อยเป็นผู้โหวต
วันวาน ผู้บริหารกลุ่มทรูก็ออกมากล่าวถึงความสำเร็จของการควบรวมกิจการ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาว่าได้พลิกโฉม โทรคมนาคมไทยขนานใหญ่อย่างน้อยใน 2ด้านสำคัญๆ คือ 1.คุณภาพสัญญาณ การให้บริการและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพราะพฤติกรรมการใช้งานเปลี่ยนไปส่งผลให้ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยี Smart Home หรือการรับชมคอนเทนต์บนสมาร์ททีวี
และ 2.การเพิ่มบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ เช่น ผู้ใช้บางกลุ่มอ่อนไหวเรื่องคุณภาพสัญญาณมาก ๆ ก็มีตัวเลือกเป็นโมเด็มใหม่ที่สามารถสลับใช้งานอินเทอร์เน็ตจากมือถือได้ทันที เมื่อสัญญาณหลุดหรือไม่เสถียร
ก็ไม่รู้ผู้ใช้บริการโดยทั่วไป จะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของตลาดมือถือในบ้านเราในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบ้างไหม หลังการควบรวมครั้งประวัติศาสตร์ไปแล้ว ได้ทำให้สภาพการแข่งขันในตลาดสื่อสารโทรคมนาคมบ้านเรา เข้มข้น มีการแข่งขันกันปรับปรุงคุณภาพบริการ แข่งขันกันลดแลกแจกแถม เอาใจ ผู้ใช้บริการ อย่างสุดนิ่มทิ่มประตูอย่างทีคาดหวังไว้หรือไม่
ที่สำคัญ การบ้าน 5 ข้อ ที่เป็นข้อกังวล point of concern ต่อการควบรวมกิจการ ที่คณะกรรมการ กสทช.ให้ไป รวมทั้งมาตรการเฉพาะก่อนและหลังการควบรวมนั้น ไม่รู้ว่าที่ผ่านมา สำนักงานกสทช. มีการ Monitor ประเด็นต่างๆเหล่านี้ว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหนอย่างไรบ้าง ได้รับการปฏิบัติครบถ้วนหรือไม่อย่างไร
เป็นต้นว่าข้อกังวลเรื่องของการกำหนดเพดานราคาอัตราค่าบริการเฉลี่ยที่ต้องลดลงร้อยละ 12 โดยใช้วิธีการเฉลี่ยราคา ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละรายการส่งเสริมการขาย ภายใน 90 วันหลังจากมีการควบรวม
การให้มีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการเพื่อให้เป็นทางเลือก, การให้นำส่งข้อมูลต้นทุนและข้อมูลที่จำเป็นโดยให้มีหน่วยงานตรวจสอบ
ให้นำส่งข้อมูลตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2564 ให้ครบถ้วน โดยให้แยกรายละเอียดเป็นรายเดือน และนำส่งสำนักงาน กสทช. ทุก 3 เดือน หรือเมื่อ กสทช. ร้องขอ เพื่อใช้ตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนรวมเฉลี่ย ซึ่งเป็นราคาในตลาดที่มีการแข่งขัน (Average Cost Pricing) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (MC) ที่เป็นปัจจุบัน
หรือจัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ เพื่อทำหน้าที่สอบทาน (Verify) ความถูกต้องของข้อมูล ตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนเฉลี่ย (AC) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (MC) ที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันของแต่ละรายบริการ ปีละ 4 ครั้ง (รายไตรมาส) โดยต้องจัดให้มีที่ปรึกษาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี หรือตลอดระยะเวลาอายุใบอนุญาตสิ้นสุดลง
การคงทางเลือกของผู้บริโภค การกำหนดให้บริษัท TUC และ บริษัท DTN ยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี
หรื่อในเรื่องของเงื่อนไขเฉพาะ หลังการควบรวมที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่เกิดขึ้นจากการรวม(ตลอดจนบริษัทย่อย)ต้องดำเนินการให้ผู้รับใบอนุญาต MVNO สามารถใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นได้เช่นเดียวกับตนเอง
ผู้รับใบอนุญาต MVNO จะต้องได้รับสิทธิในการใช้บริการจากคลื่นความถี่ในทุกย่านของผู้รวมธุรกิจที่มีสิทธิในการใช้งานทั้งสิทธิทางตรงและสิทธิที่ได้รับช่วงมาภายใต้มาตรฐานเทคโนโลยีเดียวกัน
จะต้องไม่ปฏิเสธการให้บริการแก่ผู้ได้รับใบอนุญาต MVNO อันเกิดมาจากเหตุผลความไม่เพียงพอของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด
จะต้องพร้อมให้ผู้รับใบอนุญาต MVNO ที่ขอเข้าใช้โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ สามารถเริ่มให้บริการได้ภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ขอเข้าใช้บริการ
บริษัท TUC และ DTN จะต้องจัดให้มีบริการโครงข่ายโทรคมนาคม โดยมีขนาดความจุ (Capacity) อย่างน้อยร้อยละ 20 ของโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งหมดของตนเองให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือนที่ไม่มีความเกี่ยวโยงกันกับTUC และ DTN เมื่อมีคำขอรับบริการดังกล่าว
ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะต้องไม่กำหนดเพดานขั้นต่ำของการเข้าซื้อรายบริการ เช่น เสียง ข้อมูล บริการข้อความ เป็นต้น ของผู้รับใบอนุญาต MVNO ทั้งนี้ การเรียกเก็บค่าบริการให้เป็นไปตามการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง
ทั้งหมดนี้ สำนักงานกสทช ได้มีการดำเนินการ ไปอย่างไรบ้างแล้ว ไม่เห็นได้ออกมาชี้แจงต่อสาธารณชนเหมือนกับเมื่อครั้ง ที่ป่าวประกาศ เหตุผลในการ ไฟเขียว ควบรวม ในครั้งนั้น
เห็นมีแต่รายงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ ‘สภาผู้บริโภค’ ได้เผยแพร่ ‘รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงาน กสทช. อันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค จากกรณีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม’เมื่อต้นปี 67ที่ผ่านมา
เป็นรายงานที่มีแต่กระซวกผลการควบรวมที่ไม่เป็นไปตาม เจตนารมณ์ และเป้าหมาย ไม่ได้ทำให้ค่าบริการ ในมือ ผู้บริโภค และผู้ใช้บริการลดลงแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับถูกมัดมือชก ลดทางเลือกผู้บริโภคลงเสียอีก