ชะตากรรมของโลกในปี 2025 ขึ้นอยู่กับบุรุษสองคน หนึ่งคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะกลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในวันที่ 20 มกราคม เป็นผู้นำโลกตะวันตก อีกหนึ่งคือ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ครองตำแหน่งผู้นำโลกตะวันออกมายาวนาน และคือคู่แข่งขันที่สมน้ำสมเนื้อกับการทำ “สงครามการค้า” รอบใหม่ที่ไม่อาจหลีกพ้นระหว่างสองมหาอำนาจ ซึ่ง ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนจะมาวิเคราะห์อย่างละเอียด ในรายการ จับคู่ธุรกิจ สถานีวิทยุ ร.ด.FM96.0 ว่าพญามังกรในยุคนี้ จะยอมให้พญาอินทรีขี่หลังหรืออย่างไร
ดร.ไพจิตร กล่าวว่า จีนมีความชัดเจน นับตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อ 45 ปีที่ผ่านมา ในเรื่องการค้าขายระหว่างประเทศ ทำให้มีความเจริญเติบโต และพัฒนาไปมาก นอกจากนี้ จีนยังผลิตสินค้าเก่ง ส่งไปจำหน่ายทั่วโลก จนมีแนวโน้มเกินดุลการค้าจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าในปี 2024 จีนจะเกินดุลการค้าประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจีนคงพอใจ แต่หลายประเทศที่เป็นคู่ค้า อาจไม่สบายใจ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เพราะยุคก่อนหน้านั้น สหรัฐฯขาดดุลการค้าญี่ปุ่น พอภาพของญี่ปุ่นหายไป จีนโผล่ขึ้นมาแทนแบบพุ่งทะยาน แล้วตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯขาดดุลการค้าจีนมากยิ่งกว่าตอนที่ขาดดุลการค้าญี่ปุ่น มีความพยายามจะลดการขาดดุล ในหลายส่วนหลายคราว โดยภาพที่ชัดเจนมากที่สุด และดูจะก้าวร้าวจริงจังคือ สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยที่ 1 (ค.ศ.2017-2020) ที่พยายามกีดกัดทางการค้าหลายรูปแบบ พยายามกดดันให้จีนซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง แต่ก็นำมาสู่คำว่า “สงครามการค้า” หรือ TRADE WARS และต่อมา ในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ขยับจากมิติของ TRADE WARS เป็น TECH WARS คือจากสินค้าทั่วไป เป็นสงครามเทคโนโลยี
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ที่ทรัมป์คว้าชัยชนะนั้น น่าจะนำไปสู่สงครามการค้าระลอกใหม่ ที่ใหญ่และกว้างขวางกว่าเดิม “ใหญ่” คือมิติของอัตราอากรนำเข้า ที่สหรัฐฯจะเรียกเก็บจะเพิ่มมากขึ้น สมัยทรัมป์ 1 นั้นเรียกเก็บเพิ่มขึ้น 25% ในสินค้าระดับบน แต่ในยุคทรัมป์ 2 ตั้งแต่ตอนหาเสียง จนถึงได้รับชัยชนะแล้ว บอกว่าจะเก็บเพิ่มถึง 60% จากอัตราอากรนำเข้าเดิม
ที่ว่า “กว้างขวาง” คือมิติเชิงคุณภาพ ที่จะส่งผลถึงหลายรายการสินค้า และหลายประเทศ ที่เป็นคู่ค้าของสหรัฐฯ ขอบข่ายนี้ จึงไม่ใช่แค่การปะทะกันของมหาอำนาจอันดับ1 กับอันดับ2 ของโลก แต่อาจหมายรวมถึงประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่ค้าขายกับสหรัฐฯในปัจจุบัน ทั้งที่เกินดุลการค้า หรือไม่เกินดุล แต่อาจจะมีเงื่อนไขบางอย่างเพิ่มขึ้น เช่น เพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโกและแคนาดา อาจจะเข้าข่ายเรียกเก็บอากรนำเข้า เพิ่มขึ้น 25% เพราะไม่ดูแลเรื่องคนเข้าเมืองสหรัฐฯอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งมีผลให้ผู้นำแคนาดา ต้องออกมาแสดงอาการ “จิ้มก้อง” หรือคารวะว่าที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ แต่เม็กซิโกกลับแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างชัดเจน ทำให้คิดว่าผลจากสงครามการค้ารอบใหม่ หรือมาตรการกีดกันที่จะเกิดขึ้น จะขยายวงไม่เพียงแค่สองมหาอำนาจเท่านั้น
ข้อสังเกตคือ การกระทำของทรัมป์ตั้งแต่สมัยแรก มีผลให้สหรัฐฯเสียแนวร่วมไปเยอะมาก ทั้งแนวร่วมในองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) องค์การอนามัยโลก (WHO) และวันนี้ทรัมป์ ก็ประกาศจะถอนตัวจาก WHO อีก การที่สหรัฐฯ ใช้ความใหญ่ของตนเอง พยายามไปกดดันคนอื่น หรือเปิดประเด็นใหม่ๆ มีผลให้หลายประเทศเกิดความรู้สึกว่า ถูกคุกคามข่มขู่หรือถูกกีดกันควบคู่ไปด้วย ย่อมไม่พอใจ หลายประเทศไม่มีทางเลือก ถูกสหรัฐฯแซงชั่น ดังนั้นหากมีใครเปิดแนวให้เข้าร่วม ก็ย่อมวิ่งไปหา เพื่อใช้ประโยชน์แสวงหาทางออก หรือช่องทางในการพัฒนา ยิ่งสหรัฐฯเดินเกมเชิงรุก ก็จะยิ่งมีปฏิกริยาตอบโต้
เช่นกรณีจีนในช่วงทรัมป์ 1 ซึ่งตอนนั้นทรัมป์ประกาศขึ้นอากรนำเข้า 25% ถ้าเป็นประเทศอื่นที่ไม่มีศักยภาพ หรือความพร้อม ก็คงหาทางเจรจาว่าขึ้นให้น้อยหน่อย และยอมรับเงื่อนไขนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ แต่จีนไม่ใช่อย่างนั้น จีนใช้นโยบาย “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” แสดงศักยภาพความเป็นผู้นำของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีจำนวนมากในโลกนี้ และปีหน้าประเทศกำลังพัฒนา จะมีขนาดเศรษฐกิจโดยรวมใหญ่กว่าประเทศพัฒนาแล้ว เป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่2
จีนไม่ต้องการแสดงท่าที หรือจุดยืนที่อ่อนแอ ซึ่งจะทำให้ประเทศแนวร่วมที่ฝากความหวังไว้กับจีนต้องผิดหวัง จึงขึ้นอากรนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 25% เท่ากัน เป็นการตอบโต้ ผลกลับกลายเป็นว่า สินค้าเกษตรของสหรัฐฯ แทนที่จะส่งไปขายจีนได้เพิ่มมากขึ้น กลับไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าเกษตรจากประเทศอื่น ที่ส่งไปขายในจีน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสหรัฐฯเป็นแหล่งสินค้าเกษตรารายใหญ่ของจีน จีนต้องดำเนินการมาตรการอื่นๆ คู่ขนานไปด้วย เช่นไปจับมือกับชิลี อาร์เจนตินา เปรู หรือประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อผลิตสินค้าเกษตร ส่งเข้าจีนทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐฯ
แม้ในมิติของการส่งออก จีนก็พยายามลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯควบคู่ไปด้วย โดยหันไปแสวงหาตลาดอื่นเพิ่ม ในช่วงปี 2017 จีนส่งสินค้าไปสหรัฐฯประมามณ 20% หรือ 1 ใน 5 ของการส่งออกของจีน ที่ต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เมื่อถูกกีดกัน ถูกเก็บภาษีมากขึ้นจีน ได้กระจายความเสี่ยงในการหาตลาดใหม่ๆมาทดแทน ตอนนี้เหลือประมาณ 14% แต่ก็ยังเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดของจีนอยู่ดี เทียบมูลค่าเท่ากับประมาณ 4% ของ GDP จีน ส่วนตลาดอื่นๆที่จีนมุ่งหามาทดแทนคืออเมริกาใต้ แอฟริกา ตะวันออกกลาง อาเซียน ซึ่งเป็นตลาดระดับกลางและระดับล่าง
ในยุคทรัม์ป 2 หากสหรัฐฯดำเนินมาตรการอากรนำเข้าสินค้าจีน รุนแรงอย่างที่ประกาศ ก็เชื่อว่าจีนจะตอบโต้กลับด้วยวิธีเดียวกันคือ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” อย่างที่เคยทำมาแล้ว จะไม่ใช้วิธีความสงบสยบความเคลื่อนไหว ใจเย็น เพราะตั้งแต่ที่สี จิ้นผิง ขึ้นมาเป็นผู้นำ จีนมีจุดยืนชัดเจน ดังนั้นผลกระทบในวงกว้างจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะห่วงโซ่อุปทานจีน-สหรัฐฯ แต่ยังอาจหมายรวมถึงห่วงโซ่อุปทานในตลาดอื่นๆ เช่น กรณีเม็กซิโก และแคนาดา มิใช่แค่เรื่องคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ยังมีเรื่องที่จีนเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตสินค้าในสองประเทศนี้ เพื่อส่งเข้าตลาดสหรัฐฯ
ต่อคำถามว่า จริงหรือเมื่อเกิดสงครามการค้าแล้ว จะเป็นโอกาสของไทย จะได้ค้ากับจีนมากขึ้น ดร.ไพจิตรตอบว่า จีนยังคงเป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในมิติการส่งออกของไทย เรายังส่งออกไปตลาดสหรัฐฯมากที่สุดอันดับ 1 จีนคืออันดับ 2 การที่ไทยส่งสินค้าไปจีนยากนั้น อาจเป็นเพราะมีเงื่อนไข กลไก คู่แข่งขัน มีกิจการภาครัฐของเขา มีเรื่องที่เข้าใจยากหรือเข้าใจวัฒนธรรมและโครงสร้างทางการตลาดของจีนยังน้อย
ถ้าไทยอยากได้ประโยชน์จากการแข่งขันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน เราต้องทำความเข้าใจให้ดี การที่ไทยส่งสินค้าไปสหรัฐฯได้ดี อาจเป็นเพราะผู้บริหารจำนวนมากของไทย ไปร่ำเรียนหนังสือในโลกฝั่งตะวันตก รู้ภาษา รู้วัฒนธรรม รู้โครงสร้างอะไรต่างๆ มีเพื่อนฝูง ประกอบกับความโปร่งใสในการทำธุรกิจของตะวันตกค่อนข้างดี
ดร.ไพจิตร มองว่า 4 ปีข้างหน้า ในสมัยของทรัมป์ 2 นับจากต้นปี 2025 จะมีความท้าทายในหลายๆ ส่วน เมื่อภาษีสูงขึ้นตลาดอาจจะแคบลง เราอาจจะส่งสินค้าไปสหรัฐฯยากขึ้น หากเป็นหนึ่งในประเทศที่จะถูกเรียกเก็บอากรนำเข้าเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน ในกรณีของจีน ที่ผ่านมาจีนพยายามแสดงจุดยืนว่าเป็นผู้นำของการค้าเสรี ในขณะที่สหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีนำเข้า จีนสวนทางประกาศลดภาษีเหลือ 0% ให้ประเทศด้อยพัฒนา ไทยอาจจะเผชิญการแข่งขันในตลาดจีนมากขึ้น แต่จีนเป็นประเทศที่บริหารจัดการการนำเข้า-ส่งออกเก่งมาก ในด้านหนึ่งเขาลดภาษี แต่อีกด้านอาจมีมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีโผล่ออกมาก็ได้ โดยเฉพาะกับประเทศที่ไม่เป็นมิตร
อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่า 3-4 ปีข้างหน้า ยังจะเห็นการทะลักไหลของเงินทุนจากจีน เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้นกว่าของประเทศอื่นๆ ทั้งด้วย 50 ปีไทย-จีน ด้วยนโยบายการขยายการลงทุนออกนอกประเทศ ด้วยศักยภาพของไทย