แนวปฏิบัติของรัฐบาลจีน ว่าด้วยการพัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง หรือเอสเอ็มอี ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025) ระบุว่า จีนตั้งเป้าหมายบ่มเพาะเอสเอ็มอี จำนวน 1 ล้านราย ภายในปี 2025
ที่สำคัญคือ เอสเอ็มอีจำนวน 1 ล้านราย ไม่ใช่ผู้ประกอบการธรรมดา แต่เป็น “SME นวัตกรรม” ที่จดสิทธิบัตรเป็นของตัวเอง
งบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดเล็ก มีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 10 โดยตั้งเป้าจำนวนการยื่นสิทธิบัตร จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024 สัดส่วนการจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ในประเทศจีน ซึ่งวิสาหกิจต่างๆ ถือครองอยู่ พบว่า 73.5% เป็นของเอสเอ็มอี
รายงานจาก สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติจีน (CNIPA) ระบุว่า การส่งเสริม SME ของจีน ดำเนินการแบบบูรณาการเทคโนโลยี ระหว่างเอสเอ็มอี มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย เพื่อเร่งการเติบโตของเอสเอ็มอี ผ่านการนำสิทธิบัตรไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น
การส่งเสริมดังกล่าว ทำควบคู่กับการบรรเทาความยากลำบากทางการเงิน รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการ สำหรับเอสเอ็มอี ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
กลยุทธ์การสร้างเอสเอ็มอีของจีน ไม่ได้เน้นเฉพาะในช่วงการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ แต่ส่งเสริมกันตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ผ่านรูปแบบการฝึกงานในระบบ “ทวิภาคี” ระหว่างสถาบันการศึกษากับอุตสาหกรรมต่างๆ และนำผลงานของนักศึกษา เป็นคะแนนก้าวไปสู่ระดับชั้นที่สูงขึ้น
รวมถึงการพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซ ในหมู่บ้านต่างๆทั่วประเทศ เพื่อสร้างโอกาสการค้าผ่านระบบออนไลน์ พัฒนาผู้ประกอบการ SME ในโลกยุคใหม่